ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อดีต ผอ.รพ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร ชี้หากแยกเงินเดือนออกจากงบรายหัวจะกระทบกับโรงพยาบาลที่จ้างบุคลากรนอกระบบงบประมาณจำนวนมาก ย้ำตลอด 15 ปีของระบบบัตรทองโรงพยาบาลต่างๆ ปรับตัวไปไกลจนถึงจุดที่ไม่น่ากลับไปเริ่มใหม่แล้ว แนะยังมีอีกหลายวิธีบริหารจัดการที่ทำได้

นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลพรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร ให้ความเห็นถึงการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ในประเด็นเรื่องการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวว่า การผูกเงินเดือนเข้ากับงบรายหัวเริ่มตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพจนถึงปัจจุบันก็ประมาณ 15 ปีแล้ว ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมาโรงพยาบาลต่างๆได้ปรับตัวไปพอสมควรจนถึงระดับที่ไม่น่ากลับไปเริ่มใหม่แล้ว และหากมีการแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัวจะทำให้เกิดปัญหาทันทีกับโรงพยาบาลที่มีข้าราชการน้อยและมีการจ้างบุคลากรโดยใช้เงินนอกงบประมาณจำนวนมาก

นพ.บัลลังก์ ขยายความว่า ในภาพใหญ่แล้วโรงพยาบาลที่มีข้าราชการมากแต่ประชากร UC น้อยและโรงพยาบาลที่มีข้าราชการน้อยแต่ประชากร UC มาก มี Labour Cost ไม่หนีกัน เพราะหากมีข้าราชการมากก็จะมีการจ้างบุคลากรนอกงบประมาณน้อย แต่ถ้ามีข้าราชการน้อยก็จ้างบุคลากรนอกงบประมาณมาก

“โรงพยาบาลที่ประชากร UC เยอะแต่บุคลากรน้อยก็มีเยอะเลยโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล ถามว่าเขาทำงานอย่างไร เขาก็จ้างบุคลากรเพิ่มเอง เช่น ลูกจ้างชั่วคราว พกส. ก็เอาเงินรายหัวที่ได้เยอะกว่าที่อื่นเนื่องจากเงินเดือนมันน้อยมาจ่าย เพราะฉะนั้นภาพใหญ่สถานการณ์การเงินไม่หนีกัน ถ้าถามว่าสมควรแยกหรือไม่แยกเงินเดือน มันมี 2 มุมเสมอ ถ้าผมจ้างนอกงบประมาณเยอะ ผมก็ตอบว่าไม่ควรแยกเพราะถ้าแยกแล้วจะเกิดปัญหาทันที ลูกน้องที่จ้างนอกงบประมาณจะเอาเงินที่ไหนไปจ่าย โดยเฉพาะโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล” นพ.บัลลังก์ กล่าว

นพ.บัลลังก์ กล่าวอีกว่า นอกจากการแยกเงินเดือนแล้ว ยังมีทางเลือกอื่นๆ ในการปรับการบริหารจัดการ เช่น การจัดการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้งการมีกรรมการ 7x7 การบัฟเฟอร์ การมีค่า K ในการจ่าย คิดว่ามาถูกทางแล้ว เพียงแต่ถ้ายังไม่มีประสิทธิภาพมากพอก็เพิ่มค่า K เข้าไปอีก หรือหาเหตุผลไปอธิบายกับสำนักงบประมาณเพื่อของบรายหัวเพิ่มขึ้นสำหรับโรงพยาบาลที่มีวิกฤติ ซึ่งสามารถทำเป็นเคสเฉพาะได้ หรือจะใช้งบประมาณของ สธ.ไปช่วยก็ทำได้ หรือจะใช้วิธีช่วยค่าน้ำค่าไฟ Fixed Cost โดยใช้งบอีกก้อนของกระทรวงไปบัฟเฟอร์ก็ได้

“หรือโรงพยาบาลที่ประชากร UC น้อยแต่เจ้าหน้าที่มาก ก็ต้องพยายามใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ ไม่จ้างเพิ่มหรือถ้าจ้างเพิ่มก็ควรมีปริมาณงานรองรับ ถ้าพลิกวิกฤติเป็นโอกาสก็สามารถรับส่งต่อในเคสยากๆ เพื่อหารายได้ หรือพัฒนาเป็น Excellence Center เพื่อฉีกแนวทางบริการไม่ซ้ำซ้อนกับโรงพยาบาลอื่น หรือกระจายทรัพยากรลงสู่พื้นที่ห่างไกล มันมีวิธีบริหารจัดการ ซึ่งผมเชื่อว่าทุกแห่งก็ปรับตัวมาตลอด ส่วนปัญหาปลีกย่อยผมคิดว่าค่อยๆ แก้ ไม่มีอะไรที่แก้ไม่ได้ เพียงแต่อาจต้องใช้เวลา การแก้จุดหนึ่งแน่นอนว่ามีกลุ่มหนึ่งพอใจ อีกกลุ่มเสียเปรียบ ก็ต้องปรับไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็บาลานซ์ไปจนได้ และถ้าดูในภาพรวม โรงพยาบาลที่มีเงินบำรุงเหลือเยอะหรือมีงบประมาณมากๆ ก็เริ่มลดลง หรือโรงพยาบาลที่ขาดทุนเยอะๆ ก็เริ่มดีขึ้น ฉะนั้นในภาพใหญ่มันเริ่มไปกันได้แล้ว” นพ.บัลลังก์ กล่าว.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอเจษฎา’ หนุนแก้ กม.บัตรทอง ชี้ควรปรับการใช้งบป้องกันโรค ดูแลบุคลากรที่ได้รับผลกระทบ

นักวิชาการแนะนับหนึ่งใหม่แก้ กม.บัตรทอง

สธ.แจงเหตุขอแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัว

สสจ.สิงห์บุรี เผยแก้ กม.บัตรทองคือทางออก แยกเงินเดือน ช่วย รพ.พ้นวิกฤตการเงิน

ประธาน สพศท.ชี้ปมเห็นต่างแก้ กม.บัตรทอง ต่อให้นับ 1 ใหม่จนถึง 10 ก็ไม่จบ หากมีมุมมองแบ่งฝ่าย

ประธานชมรม รพศ./รพท.ชี้ แก้ กม.บัตรทอง ควรยึดหลัก ปชช.ไม่เสียสิทธิ รพ.อยู่ได้

รพ.พระนั่งเกล้าหนุนแก้ กม.บัตรทอง เห็นด้วยแยกเงินเดือนจากงบรายหัว

‘ผอ.รพ.รามัน’ ขวางแยกเงินเดือนบุคลากร หวั่นกระทบ รพ.ขนาดเล็ก-ประชาชน

'รพ.สิงห์บุรี' ย้ำลดต้นทุนทุกวิธีแต่ยังเอาไม่อยู่ เชื่อแยกเงินเดือนช่วยได้มาก

‘หมอวินัย’ ห่วงแยกเงินเดือนจากงบรายหัว ทำ รพ.อีสานวิกฤตแน่

ผอ.รพ.ประจวบฯ ชี้ผูกเงินเดือนกับงบรายหัว หลักคิดดีแต่ในทางปฏิบัติทำไม่ได้

ผอ.รพ.ตากใบ หวั่นผลกระทบลูกโซ่แยกเงินเดือนจากรายหัว ชี้ รพ.ชุมชนอ่วม

‘ผอ.รพ.บ้านแพ้ว’ ชี้ ข้อดี-ข้อเสียแยกเงินเดือนจากงบรายหัวบัตรทอง