ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชาวบ้านร้องเรียน รพ.แม่แตง ไม่เอาใจใส่ขณะป่วยเร่งด่วน ผอ.โรงพยาบาลปิ๊งไอเดียสร้างความเข้าใจ ติดสัญญาณไฟฉุกเฉิน-ปิดแผ่นป้ายอธิบายความ 3 เดือน ลดปัญหาได้

นพ.สมศักดิ์ โอภาสตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่แตง จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงการสร้างนวัตกรรมเพื่อจัดบริการห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลแม่แตงว่า จุดเริ่มต้นมาจากปัญหาการสื่อสารกับผู้มารับบริการ เนื่องจากผู้มารับบริการในห้องฉุกเฉินส่วนใหญ่มักจะคิดว่าตัวเองป่วยในภาวะฉุกเฉินและไม่สามารถรอคอยได้ ขณะเดียวกันในระหว่างที่ห้องฉุกเฉินยังไม่ว่างหรือมีการให้บริการอยู่นั้นก็จะปิดประตูห้อง เป็นเหตุให้ผู้ที่รออยู่ข้างนอกไม่ทราบว่าข้างในกำลังทำอะไรอยู่หรือให้บริการอะไรอยู่ ที่สุดแล้วก็เป็นความไม่พึงพอใจและเกิดเป็นเรื่องร้องเรียนขึ้น

"แน่นอนว่าผู้ที่มาห้องฉุกเฉินย่อมมีภาวะเร่งด่วนเช่นกัน และคนไข้ส่วนใหญ่ก็คิดว่าตัวเองต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนแล้วทำไมแพทย์ยังปล่อยให้รออยู่ข้างนอก ฉะนั้นต้องเข้าใจว่าห้องฉุกเฉินโดยเฉพาะนอกเวลานั้น โรงพยาบาลอำเภอก็ไม่มีผู้ให้บริการมากมาย จึงเกิดเป็นข้อร้องเรียนว่าเจ็บป่วยหนักแต่ไม่ได้รับการดูแลใส่ใจ" นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อมีข้อร้องเรียนเรื่องการให้บริการห้องฉุกเฉินมาจากชุมชน ทางโรงพยาบาลจึงกลับมาปรึกษาหารือกันว่าจะสื่อสารกับผู้ป่วยและผู้ที่มารอใช้บริการอย่างไร ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่าสิ่งที่โรงพยาบาลต้องดำเนินการคือ

1.ทำป้ายประชาสัมพันธ์ว่าผู้ป่วยที่จะเข้าใช้ห้องฉุกเฉินนั้นมีกี่ประเภท โดยใช้แถบสีและข้อความเป็นตัวสื่อสาร ยกตัวอย่างเช่น ฉุกเฉินวิกฤตจะเป็นสีแดงต้องได้รับการดูแลโดยทันที หรือประเภทที่รอได้จะรอได้ ยังรอได้ไม่เกิน 20-40 นาที

2.การติดสัญญาณไฟฉุกเฉินหน้าห้องฉุกเฉิน ซึ่งจะมีลักษณะเป็นไฟหมุนคล้ายคลึงกับไฟสัญญาณของรถพยาบาลแต่ไม่มีเสียง เพื่อแสดงให้ผู้มารอเห็นว่าขณะนี้ห้องฉุกเฉินกำลังใช้งานอยู่ โดยภายในห้องนั้นเป็นคนไข้ในภาวะวิกฤตชีวิต

"ข้อความประชาสัมพันธ์และแถบสีอธิบายว่าผู้ป่วยฉุกเฉินมีกี่ประเภท จะทำให้ผู้ที่มารอรับบริการสามารถประเมินตัวเองได้ว่าตัวเองอยู่ในประเภทไหน ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจว่าหากยังไม่ฉุกเฉินก็ยังสามารถรอได้ หรือเหตุใดต้องช่วยคนไข้ขั้นวิกฤตชีวิตก่อน แต่ถ้าไม่มีคนไข้ขั้นวิกฤตเราก็จะไม่เปิดไฟ คือจะเปิดให้บริการห้องฉุกเฉินไปตามปกติ" นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการที่สื่อสารให้ผู้ที่รออยู่เข้าใจด้วยว่า เมื่อสักครู่ที่เปิดไฟสัญญาณฉุกเฉินนั้นเกิดอะไรขึ้นในห้องฉุกเฉิน ซึ่งเมื่อทำความเข้าใจแล้วก็จะเป็นการผ่อนหนักให้กลายเป็นเบา ลดช่องว่างระหว่างกัน โดยภายหลังสร้างนวัตกรรมนี้ขึ้นมา 2-3 เดือนที่ผ่านมา พบว่าบรรยากาศดีขึ้นมาก คนไข้มีความเข้าใจมากขึ้น ลดอารมณ์ฉุนเฉียวลง เรื่องร้องเรียนก็หายไป

ขอบคุณภาพจากเพจเชื่อแมวเหอะ(รู้ไหมว่าตัวเองโดนหลอก)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง