ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอรอซาลี’ ไม่เห็นด้วยแก้ กม.บัตรทอง แยกเงินเดือนออกจากงบรายหัว ชี้หากทำจริงระบบสุขภาพวุ่นแน่ โดยเฉพาะโรงพยาบาลชนบทต้องเลย์ออฟคนอื้อ กระทบการให้บริการประชาชนอย่างแน่นอน

นพ.รอซาลี ปัตยะบุตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการแยกเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวตามที่มีความพยายามจะแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 อยู่ในขณะนี้ เนื่องจากผิดหลักการใหญ่ในระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะนอกจากหลักการการกระจายเงินลงสู่พื้นที่แล้ว อีกหลักการสำคัญคือต้องการกระจายบุคลากรไปสู่พื้นที่ที่ขาดแคลนโดยเฉพาะชนบท

"หลักการเรื่องของการรวมเงินเดือนด้วยก็เพื่อให้สถานบริการได้ตระหนักถึงภาระของบุคลากรที่เหมาะสมกับภาระงาน ไม่ใช่คุณมีคนเยอะแต่งานมีน้อย นี่คือระบบปัญหาสุขภาพที่ผ่านมามันเป็นเช่นนี้ คือคนกระจุกอยู่ในเมือง คนไม่ยอมออกไปสู่ชนบท บางอำเภอเป็นอำเภอเล็กๆ มีหมอมีพยาบาลหลายร้อยคน นี่คือหลักการสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพ คือกระจายเงินและกระจายคนด้วย" นพ.รอซาลี กล่าว

นพ.รอซาลี กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะถือว่าเป็นการกระจายความเป็นธรรมทางด้านทรัพยากร ซึ่งหากในอนาคตมีการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวจริงสิ่งที่จะเกิดขึ้นทันทีก็คือโรงพยาบาลต้องแบกภาระทางด้านบุคลากร โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่อยู่ตามชนบท

"ต้องยอมรับว่าโรงพยาบาลที่อยู่ในชนบทไกลๆ นั้น ข้าราชการมีไม่มาก วิธีการบริหารจัดการก็คือการจ้างคนนอกระบบเข้ามาเสริมในระบบสุขภาพ เพราะว่าข้าราชการไม่ยอมออกไปอยู่ชนบท เราก็ต้องมีการจ้างคน ฉะนั้นโรงพยาบาลในชนบททุกโรงพยาบาลจะต้องแบกภาระคนนอกระบบตรงนี้ไว้มาก ถ้าแยกเงินเดือนทันที โรงพยาบาลที่อยู่ชนบทจะกระทบอย่างมาก ผมคิดว่าจะมีความวุ่นวายเกิดขึ้นในประเทศนี้อย่างแน่นอน" นพ.รอซาลี กล่าว

นพ.รอซาลี กล่าวต่อไปว่า ภาพความวุ่นวายก็คือโรงพยาบาลชนบทอาจต้องมีการเลย์ออฟหรือเลย์หลังคนออกจากโรงพยาบาลจำนวนมาก ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือโรงพยาบาลรามันนั้นมีบุคลากรประมาณกว่า 300 คน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราว หากมีการกันเงินเดือนออกไปก็เท่ากับว่าเงินที่จะเข้ามาหมุนเวียนในโรงพยาบาลก็จะหายไปหมด

"เมื่อแยกเงินเดือนออกไป ผมก็คงไม่สามารถจะดูแลคนกลุ่มนี้ได้เลย ต้องเลย์ออฟคนออกจากระบบสุขภาพนี่คือสิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลขนาดเล็ก ซึ่งแตกต่างกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อยู่ในเขตเมืองและมีข้าราชการอยู่เยอะ เขาเหล่านั้นจะได้รับประโยชน์" นพ.รอซาลี กล่าว

นพ.รอซาลี กล่าวว่า เมื่อความวุ่นวายดังกล่าวเกิดขึ้นในโรงพยาบาล ย่อมกระทบต่อการจัดบริการสุขภาพให้ประชาชนทันที นั่นเพราะคนที่โรงพยาบาลจ้างส่วนใหญ่เป็นด่านหน้าหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานคีย์บัตร พนักงานคีย์ข้อมูลผู้ป่วย พนักงานต้อนรับ พนักงานเปล พนักงานทำความสะอาด ฯลฯ

"สถานการณ์ขณะนี้เป็นการต่อสู้เช่นเดียวกับเมื่อ 3-4 ปีก่อน ที่ดูเหมือนต้องการช่วยเหลือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยไม่ค่อยคำนึงถึงโรงพยาบาลที่อยู่ตามชนบทมากนัก สาเหตุที่ภาคชนบทต่อต้านเรื่องนี้ก็เพราะว่าจะกระทบต่อบุคลากรที่ทำงานอยู่ในภาคชนบทอย่างรุนแรง" นพ.รอซาลี ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอเจษฎา’ หนุนแก้ กม.บัตรทอง ชี้ควรปรับการใช้งบป้องกันโรค ดูแลบุคลากรที่ได้รับผลกระทบ

นักวิชาการแนะนับหนึ่งใหม่แก้ กม.บัตรทอง

สธ.แจงเหตุขอแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัว

สสจ.สิงห์บุรี เผยแก้ กม.บัตรทองคือทางออก แยกเงินเดือน ช่วย รพ.พ้นวิกฤตการเงิน

ประธาน สพศท.ชี้ปมเห็นต่างแก้ กม.บัตรทอง ต่อให้นับ 1 ใหม่จนถึง 10 ก็ไม่จบ หากมีมุมมองแบ่งฝ่าย

ประธานชมรม รพศ./รพท.ชี้ แก้ กม.บัตรทอง ควรยึดหลัก ปชช.ไม่เสียสิทธิ รพ.อยู่ได้

รพ.พระนั่งเกล้าหนุนแก้ กม.บัตรทอง เห็นด้วยแยกเงินเดือนจากงบรายหัว

อดีต ผอ.รพ.พรานกระต่ายชี้ปมแยกเงินเดือนจากงบรายหัว กระทบ รพ.ที่จ้างบุคลากรนอกงบประมาณ

'รพ.สิงห์บุรี' ย้ำลดต้นทุนทุกวิธีแต่ยังเอาไม่อยู่ เชื่อแยกเงินเดือนช่วยได้มาก

‘หมอวินัย’ ห่วงแยกเงินเดือนจากงบรายหัว ทำ รพ.อีสานวิกฤตแน่

ผอ.รพ.ประจวบฯ ชี้ผูกเงินเดือนกับงบรายหัว หลักคิดดีแต่ในทางปฏิบัติทำไม่ได้

ผอ.รพ.ตากใบ หวั่นผลกระทบลูกโซ่แยกเงินเดือนจากรายหัว ชี้ รพ.ชุมชนอ่วม

‘ผอ.รพ.บ้านแพ้ว’ ชี้ ข้อดี-ข้อเสียแยกเงินเดือนจากงบรายหัวบัตรทอง