ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สหรัฐฯ ทลายเครือข่ายฉ้อโกงทางการแพทย์ครั้งใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์ ดำเนินคดีผู้ต้องหา 412 ราย ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ก่อเหตุยักยอกกว่า 4 หมื่นล้านบาท มีอย่างน้อย 120 รายจ่ายยาแก้ปวดให้คนไข้เกินจำเป็น ส่งผลให้มีการใช้ยาเกินขนาด มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 59,000 ราย

เจฟ เซสชันส์ (Jeff Sessions) อัยการสูงสุด และ ทอม ไพรซ์ (Tom Price) รมว.กระทรวงสาธารณสุขและบริการประชาชนแถลงเปิดโปงเหตุอื้อฉาวด้านการรักษาพยาบาลครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

เว็บไซต์ USA TODAY รายเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ แถลงการณ์ตั้งข้อหาแก่แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และบุคลากรด้านการแพทย์รวม 412 ราย โดยเจฟ เซสชันส์ อัยการสูงสุดชี้ว่าเป็นเหตุอื้อฉาวด้านการรักษาพยาบาลครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

อัยการสูงสุดสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ผู้ต้องสงสัยก่อเหตุยักยอกรวมมูลค่ากว่า 1,300 ล้านดอลลาร์ (กว่า 43,849 ล้านบาท) ในกว่า 20 รัฐ โดยอย่างน้อย 120 รายถูกตั้งข้อหากระจายและจ่ายยากลุ่มโอปิออยด์มากเกินไป ซึ่งส่งผลให้คดีนี้ยังกลายเป็นคดีทุจริตที่เกี่ยวพันกับยากลุ่มโอปิออยด์ครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ด้วยอีกทางหนึ่ง

(ยาในกลุ่มโอปิออยด์ (opioid) เป็นยาแก้ปวดที่มีประสิทธิภาพสูงที่ออกฤทธิ์บริเวณสมองและระบบประสาทเป็นหลัก มีประโยชน์มากในการใช้ระงับความเจ็บปวดขั้นรุนแรงในโรคต่างๆ เช่น การผ่าตัด ความเจ็บปวดจากโรคมะเร็ง แต่ในขณะเดียวกัน เนื่องจากเป็นยาที่ออกฤทธิ์กับระบบประสาทจึงต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์ มิฉะนั้นอาจเกิดผลข้างเคียงที่อันตรายและก่อให้เกิดการเสพติดได้ ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ได้แก่ มอร์ฟีน (morphine), บิวพรีนอร์ฟีน (buprenorphine), เฟนทานิล (fentanyl), เมทาโดน (methadone), เฮโรอีน (heroin) เป็นต้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ vcharkarn.com)

แหล่งข่าวรายงานว่ามีแพทย์ถึง 56 รายรวมอยู่ในกลุ่มจากผู้ถูกตั้งข้อหาทั้ง 412 ราย

“เป็นที่น่าเสียใจว่าแพทย์กลุ่มที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้ป่วยกลับละเมิดจรรยาบรรณและปล่อยให้ความโลภเข้าครอบงำ” เซสชันส์ กล่าว “และยิ่งตกตะลึงที่บางคนถึงกับเปลี่ยนเวชปฏิบัติของตนเองให้กลายเป็นเครือข่ายอาชญากรรมที่มีเงินสะพัดหลายล้านดอลลาร์”

ข่าวยังได้เปิดเผยถึงเหตุการณ์ที่แพทย์นายหนึ่งที่เมืองฮิวสตันถูกตั้งข้อหาเขียนใบสั่งยากลุ่มโอปิออยด์ถึง 12,000 ชุดรวมจำนวนกว่า 2 ล้านโดส

มาตรการกวดขันวงการแพทย์มีขึ้นท่ามกลางความพยายามแก้ไขปัญหาการใช้ยาสั่งจ่ายผิดประเภทโดยเฉพาะยากลุ่มโอปิออยด์ ซึ่งผลสุดท้ายมักนำผู้ใช้ไปสู่การเสพเฮโรอีนและเฟนตานีลที่มีราคาถูกกว่าและพิษสงร้ายแรงกว่า

ด้านสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดสหรัฐฯ ประเมินว่าเมื่อปีกลายมีชาวอเมริกันราว 59,000 เสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาดและหลายรายมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการใช้ยาโอปิออยด์ โดยเซสชันส์คาดว่าอัตราตายจะสูงขึ้นต่อเนื่องและทะลุหลัก 60,000 รายในปีนี้

ด้าน แอนดริว แมคคาบี (Andrew McCabe) รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ) เปิดเผยว่า มาตรการตรวจสอบครั้งนี้ระดมเจ้าหน้าที่กว่า 300 นายจาก 29 เขต

“ประเทศกำลังอยู่ในวิกฤติครับ” แมคคาบี กล่าว “การใช้ยาโอปิออยด์ผิดประเภทกำลังทำลายชีวิตคน”

แมคคาบียังประณามแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลที่ละเมิดความไว้วางใจของผู้ป่วยและผู้รับบริการ “คนพวกนี้สร้างปัญหาร้ายแรงมากครับ” แมคคาบี ชี้

รักษาการผู้อำนวยการเอฟบีไอ เผยด้วยว่า เจ้าหน้าที่สอบสวนพบเห็นภาพผู้ติดยาโอปิออยด์ยืนออรอรับยาตามคลินิกแพทย์หลายแห่ง

“แพทย์บางคนออกใบสั่งยามากว่าโรงพยาบาลเสียอีกครับ” แมคคาบี กล่าว

เจ้าหน้าที่ยังได้พบกรณีแพทย์ในรัฐมิชิแกน 6 รายรวมหัวกันตั้งโครงการจ่ายยาโอปิออยด์แก่ผู้ป่วยโดยไม่จำเป็นและนำใบเสร็จเบิกค่ายาจากระบบบริการเมดิแคร์ถึง 164 ล้านดอลลาร์ (ราว 5,533 ล้านบาท) และโอปิออยด์บางส่วนยังเล็ดรอดออกมาจำหน่ายแก่ผู้ติดยาด้วย

ข่าวระบุว่า รัฐฟลอริดามีจำนวนผู้ต้องสงสัยมากที่สุดถึง 77 รายจากความผิดฐานตั้งเอกสารเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลและเวชภัณฑ์เท็จรวมมูลค่า 141 ล้านดอลลาร์ (รา 4,757 ล้านบาท) ซึ่งราวครึ่งหนึ่งเป็นฝีมือของศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติดท้องถิ่นซึ่งอุบายติดสินบนผู้ป่วยให้ย้ายมาทางใต้ของฟลอริดาเพื่อที่จะสามารถเบิกค่ารักษากับบริษัทประกัน โดยแลกกับการที่ผู้ป่วยจะได้รับบัตรของขวัญ ตั๋วเครื่องบิน ค่าเดินทางท่องเที่ยวคาสิโนและสถานเริงรมย์ รวมถึงยา

ด้านเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางสหรัฐ เปิดเผยว่า ในรัฐมิชิแกนมีผู้ต้องสงสัยถูกตั้งข้อหารวม 32 รายในความผิดฐานฟอกเงินและ “กระจายยา” โดยมีมูลค่าความเสียหายราว 218 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 7,355 ล้านบาท)

ที่มา Jeff Sessions: 400 medical professionals charged in largest health care fraud takedown : USA TODAY