ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การเปรียบเทียบผลการศึกษาการสูญเสียปีสุขภาวะของประชากรไทย ระหว่าง พ.ศ.2552 กับ พ.ศ.2557

การสูญเสียปีสุขภาวะของประชากรใน พ.ศ.2557 นี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษา พ.ศ.2552 โดยเป็นค่าที่ไม่ได้มีการลดทอนค่าเช่นกัน พบว่า โรคที่เป็นสาเหตุ 10 อันดับแรกของการสูญเสียปีสุขภาวะของประชากรไทยใน พ.ศ.2552 และ พ.ศ.2557 นั้น ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก

แต่เมื่อเปรียบเทียบจำนวนปีสุขภาวะที่สูญเสียระหว่าง พ.ศ.2552 กับ พ.ศ.2557 พบว่า ส่วนใหญ่มีการสูญเสียปีสุขภาวะที่เพิ่มขึ้น โดยโรคข้อเสื่อมมีความสูญเสียเพิ่มมากที่สุด (ร้อยละ 24.4) รองลงมา คือ โรคหัวใจขาดเลือด (ร้อยละ 21.3) ส่วนสาเหตุที่มีการสูญเสียปีสุขภาวะลดลงมากที่สุด คือ โรคซึมเศร้า และการเสพติดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คิดเป็นร้อยละของการเปลี่ยนแปลงเท่ากับ 56.1 ปละ 29.3 ตามลำดับ

ทั้งนี้โรคที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นมากที่สุดในเพศชาย คือ โรคหัวใจขาดเลือด เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 และเพศหญิง คือ โรคสมองเสื่อม (ร้อยละ 80.5)

สำหรับโรคที่มีการสูญเสียลดลงมากที่สุดในเพศชาย คือ การเสพติดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 31.8) และเพศหญิง คือ โรคซึมเศร้า (ร้อยละ 49)

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในบางโรคเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของแหล่งข้อมูลเครื่องมือหรือนิยามที่ใช้ เช่น ในโรคทางจิตเวช ทั้งโรคซึมเศร้าและการเสพติดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องมือในการสำรวจ จาก MINI (Mini International Neuropsychiatric Interview) เป็น CIDI (Composit International Diagnostic Interview foe ICD-10) ซึ่งมีความเที่ยงตรงในการวินิจฉัยโรคสูง เป็นต้น

ที่มา : รายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ.2557

เรื่องที่เกี่ยวข้อง