ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“กรรณิการ์” ย้ำการเลือกวัคซีนใหม่มาให้บริการประชาชน ต้องไม่เบ็ดเสร็จที่สถาบันวัคซีนหรือกรมควบคุมโรค เสี่ยงได้วัคซีนไม่คุ้มค่า ประชาชนไม่ปลอดภัย สิ้นเปลืองงบไม่จำเป็น ชี้อย่าตกเป็นเหยื่อบริษัทยาข้ามชาติ จนละเลยประสิทธิผล ยืนยันต้องผ่านอนุกรรมการบัญชียาหลักชาติ และอนุกรรมการสิทธิประโยชน์และการเงินการคลังของ สปสช.ว่ามีงบประมาณพอหรือไม่ อย่าให้ซ้ำร้อยวัคซีนเอชพีวี พร้อมเรียกร้องสถาบันวัคซีนเร่งดำเนินการประกาศการมีส่วนได้เสียในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภาคประชาชน กล่าวว่า ในการนำวัคซีนใหม่มาให้บริการประชาชนตามชุดสิทธิประโยชน์ประกันสุขภาพภาครัฐนั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของงบประมาณที่รัฐบาลลงทุนไปและความยั่งยืนทางการเงินการคลังด้วย ไม่อยากให้มีคำพูดประเภทว่า "อับอายที่ไทยไม่ให้วัคซีนตัวนั้นตัวนี้เมื่อเทียบกับประเทศยากจน" หรือ "ประเทศไทยปล่อยให้เด็กไทยเสียโอกาส" การพูดแบบนี้สะท้อนว่าไม่เข้าใจเรื่องการตลาดของบริษัทยา ขณะนี้วัคซีนคือตัวทำกำไรระดับต้นๆ ของบริษัทยาข้ามชาติ ดังนั้นบริษัทจึงมีแทคติกมากมาย ทั้งการให้ฟรีกับประเทศยากจน หรือขายถูกมากแทบให้เปล่าเพื่อเป็นแรงกดดันให้กับประเทศกำลังพัฒนาต้องซื้อในราคาแพง

นางสาวกรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นการจะคัดเลือกวัคซีนใหม่ๆ ให้เป็นวัคซีนขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนนั้น ต้องอยู่บนฐานของการใช้ข้อมูลความรู้ การวิจัย โดยคำนึงถึงเรื่องของคุณค่า ความปลอดภัยต่อประชาชน ประสิทธิผลและความคุ้มค่าในเชิงงบประมาณ รวมถึงระบบการคัดเลือกและอำนาจต่อรองราคา ในส่วนของความปลอดภัยนั้น ต้องให้ความสำคัญกับในการติดตามผลการให้วัคซีน รวมทั้งผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการให้วัคซีนได้อย่างรอบคอบ และรายงานให้สาธารณชนทราบเป็นระยะให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน เช่น ถึงแม้ฉีดวัคซีนแล้ะว แต่การตรวจมะเร็วปากมดลูกยังมีความจำเป็น เป็นต้น

นางสาวกรรณิการ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยมีกลไกการคัดเลือกและต่อรองราคายาและวัคซีนที่ได้รับคำชื่นชมจนเป็นแบบอย่างให้หลายประเทศทำตาม ล่าสุด UNDP เชิญเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านนี้จาก 46 ประเทศทั่วโลกมาดูงานการจัดซื้อและต่อรองราคายาและเวชภัณฑ์ที่มีความจำเป็นระดับชาติ หลักการสำคัญคือ การพิจารณาวัคซีนใหม่ๆ จะต้องไม่เบ็ดเสร็จที่หน่วยงานเดียว ในกรณีนี้คือ ต้องไม่ใช่ที่กรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีนแห่งชาติเท่านั้น แต่ต้องเป็นการพิจารณาโดยผ่านคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ขณะเดียวกันก่อนที่จะบรรจุวัคซีนใหม่ตัวใดที่มีราคาแพงเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ จะต้องปรึกษาหารือกับคณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ และคณะอนุกรรมการการเงินการคลังในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสียก่อน เพราะ สปสช.ต้องรับผิดชอบเรื่องงบประมาณจำนวนมาก

“หลักการนี้ได้กำหนดขึ้นอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว แต่ไม่ถูกนำไปปฏิบัติในกรณีของการนำวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือวัคซีนเอชพีวีเข้าเป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับประชาชน ทำให้ระบบถูกบิดเบือนและไทยเหลืออำนาจในการต่อรองราคาน้อยมาก”

ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการวัคซีนและอนุกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ต้องแสดงการมีส่วนได้ส่วนเสีย (Declare Conflict of Interest) ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทยาและวัคซีนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำวิจัย การได้เชิญไปต่างประเทศ ฯลฯ ขณะนี้คณะกรรมการชุดอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสาธารณสุขได้ถือปฏิบัติและดำเนินการแล้ว ยังคงมีคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติที่ยังไม่ดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งต้องนำไปสู่การจัดการการมีส่วนได้เสีย (Conflict of Interest Management) หากกรรมการคนใดมีส่วนได้ส่วนเสียยังสามารถที่จะให้ข้อมูลความเห็นได้แต่ไม่มีสิทธิ์ร่วมตัดสินใจ

“ได้ฝากเรื่องนี้เมื่อครั้งที่นำเสนอในงานประชุมวิชาการวัคซีนระดับชาติเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมได้ยกมือสนับสนุนอย่างท่วมท้น จึงขอฝากสถาบันวัคซีนแห่งชาติเร่งลงมือปฎิบัติทันที เพราะคณะกรรมการอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องสาธารณสุขต่างมีกฎข้อนี้ชัดเจนให้ปฏิบัติตามก่อนการประชุมแล้วทั้งสิ้น ศึกษาต้นแบบได้จากคณะอนุกรรมการที่จัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติได้” นางสาวกรรณิการ์ กล่าว

หมายเหตุ หลักการแสดงการมีส่วนได้ส่วนเสีย (Declare Conflict of Interest) ของคณะอนุกรรมการที่จัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติ ดูได้ที่นี่

ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการวัคซีนและอนุกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ต้องแสดงการมีส่วนได้ส่วนเสีย (Declare Conflict of Interest) ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทยาและวัคซีนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำวิจัย การได้เชิญไปต่างประเทศ