ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปิดประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ประกาศปฏิญญาไปให้ถึงเป้าหมาย 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน พบอัตราคนเลิกบุหรี่ขยับเพิ่ม จากเดิมเลิกสูบปีละ 3 หมื่นคน ปัจจุบันเลิกสูบกว่า 8 หมื่นคน ชี้ ไทยมีคนสูบ 10.9 ล้านคน ในจำนวนนี้จะติดบุหรี่จลอดชีวิต 1.4 แสนคน ตั้งเป้า อสม. 1.4 ล้านคน ชวนครัวเรือนเลิกบุหรี่ให้ได้มากที่สุด

เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2560 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น นพ.วันชาติ ศุภจัสตุรัส สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวปฏิญญาในพิธีปิดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 “บุหรี่ ภัยคุกคามต่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย ว่า บุหรี่เป็นสิ่งที่ทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละมากกว่า 50,000 คน การสูบบุหรี่ของคนไทยยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ซึ่งจำนวนผู้สูบบุหรี่ยังมีถึง 10.9 ล้านคน โดยชายไทยยังสูบบุหรี่สูงถึง ร้อยละ 40 และแต่ละปีมีเยาวชนเสพติดบุหรี่ใหม่กว่า 200,000 คน ซึ่งประมาณ 140,000 คน จะติดไปตลอดชีวิต ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ได้รณรงค์ให้ประชาชนที่สูบบุหรี่เข้าร่วม “โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” ซึ่งโครงการนี้มุ่งหวังจะร่วมแก้ปัญหาจากการบริโภคยาสูบ ด้วยการทำให้คนสูบบุหรี่เลิกในการประชุมวิชาการ

นพ.วันชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมมีการประกาศปฏิญญา ดังนี้ 1.จะชักชวน เชิญชวน ท้าชวน ให้คนที่สูบบุหรี่เข้าร่วม “โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” เพื่อเลิกสูบบุหรี่ เพื่อตนเองและคนที่คุณรัก 2.จะร่วมมือกันส่งเสริมให้การไม่สูบบุหรี่เป็นค่านิยม และเป็นธรรมเนียม ปฏิบัติของสังคมไทย และ 3.จะร่วมกันสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินการควบคุมการบริโภคยาสูบ ในทุกระดับ ในทุกชุมชน และทุกองค์กร ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยฯ มีผู้ที่เข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ 572,472 ราย โดยมีคนที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ 1 เดือน 227,557คน เลิกสูบ 3 เดือน 125,295 คน เลิกสูบเกิน 3 เดือน 88,189 คน

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า งานแก้ปัญหาการบริโภคยาสูบของประเทศไทย ทำมากว่า 30 ปี โดยใช้วิธีต่างๆ ทั้งการออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย ระบบการเลิกบุหรี่ และการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนปลอดบุหรี่ จังหวัดควบคุมยาสูบทั่วประเทศไทย ซึ่งทุกอย่างต้องทำไปด้วยกัน เมื่อเริ่มผลักดันขับเคลื่อน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ มี อสม. และ เครือข่ายหมออนามัย ได้ร่วมกันทำงานจนได้รายชื่อสนับสนุนพ.ร.บ.ถึง 15 ล้านรายชื่อ ถือว่า มีพลังในการทำงานสูงมาก และเป็นแนวร่วมในการแก้ไขปัญหายาสูบ ในอดีตตัวเลขการเลิกบุหรี่ มีประมาณปีละ 3 หมื่นคน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8 หมื่นคน การตั้งเป้าหมายโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยฯ แม้ว่าจะเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็เป็นสิ่งที่ตั้งใจจะไปให้ถึง ซึ่งต้องอาศัยการรวมพลังของทุกภาคีเพื่อให้ไปไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้

ด้าน นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นับเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับ โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยฯ ปัจจุบันมี อสม. ในระบบ 1.4 ล้านคน อสม. 1 คน ดูแลประชาชน 15-20 ครัวเรือน มีอสม. เข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 2-3 แสนคน กำลังมีการเร่งสื่อสารไปยัง อสม. ให้ได้มากที่สุดผ่านการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ เพราะ อสม.มีศักยภาพ ในการกระจาย บอกต่อ โน้มน้าวให้ประชาชนเลิกบุหรี่ต่อไป ซึ่งจะตั้งเป้าหมายให้ อสม. จะต้องชวนคนเลิกบุหรี่ให้ได้อย่างน้อย 1 คน โดยการให้ความรู้เป็นสิ่งสำคัญ พบว่า ตำบลจัดการสุขภาพ ทำให้เกิดการมีชุมชนที่เข้มแข็ง จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ยั่งยืน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง