ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพชี้เกิดสุญญากาศจัดซื้อยารวม หลังใกล้หมดปีงบประมาณแต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าให้หน่วยงานใดจัดซื้อแทน สปสช. หวั่นคนไข้ได้รับผลกระทบ เผยรัฐมีโมเดลให้ 7 โรงพยาบาลใหญ่จัดซื้อยารวม 7 กลุ่มแต่ต้องให้ ครม.มอบอำนาจ อัดไม่ Make sense ถ้าต้องขออำนาจพิเศษจาก ครม. ทำไมไม่ให้ สปสช.จัดซื้อต่อไปเสียเลย จี้คณะกรรมการแก้กฎหมายบัตรทองพิจารณาข้อเสนอกฤษฎีกาเพิ่มอำนาจ สปสช.จัดซื้อยา

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยในงานแถลงข่าวของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพในประเด็นเกี่ยวกับการจัดซื้อยารวมระดับประเทศใน 7 กลุ่มยาที่มีความจำเป็น อาทิ ยาราคาแพง ยาต้านไวรัส HIV น้ำยาล้างไต วัคซีน ฯลฯ ว่า ขณะนี้เหลือเวลาอีก 2 เดือนจะหมดปีงบประมาณ 2560 แต่ยังไม่มีความชัดเจนจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการวางระบบจัดซื้อยารวม และยังไม่มีใครที่ตอบได้ว่าหากใน 2 เดือนนี้ยังวางระบบไม่เสร็จ จะให้หน่วยงานใดเป็นผู้จัดซื้อ และผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาจะได้รับผลกระทบอย่างไร เพราะสต๊อกยามีถึงแต่ช่วงสิ้นปีงบประมาณนี้เท่านั้น ขณะที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ก็ไม่กล้าดำเนินการสั่งซื้อยาจากต่างประเทศเข้ามา

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ในอดีตเมื่อเริ่มมีระบบหลักประกันสุขภาพ เกิดปัญหาผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยาจำเป็นเหล่านี้เนื่องจากเป็นยาราคาแพง โรงพยาบาลไม่ยอมจัดซื้อ ทำให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้ามาเป็นตัวกลางจัดซื้อและกำกับดูแลให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง สปสช.ดำเนินการมานานกว่า 10 ปี มีกระบวนการหาข้อมูลและต่อรองจนซื้อได้ในราคาที่ต่ำ สามารถประหยัดงบประมาณได้ปีละกว่า 5,000 ล้านบาท และการันตีการมียาส่งให้ผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตีความว่า สปสช.ไม่มีอำนาจในการจัดซื้อยา ต้องให้หน่วยบริการเป็นผู้จัดซื้อเท่านั้น ทำให้เกิดสุญญากาศในการซื้อยาขึ้นมา จนปัจจุบันก็ยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบการจัดซื้อ

นายนิมิตร์ กล่าวว่า แนวทางที่ภาครัฐมีการหารือในขณะนี้คือจะให้โรงพยาบาลใหญ่ 7 แห่ง เป็นตัวแทนจัดซื้อยาทั้ง 7 กลุ่ม โดยโรงพยาบาลไหนที่ต้องการใช้ยา ก็ต้องซื้อจาก 7 โรงพยาบาลนี้ รวมทั้ง สตง.ยังแนะนำด้วยว่าให้มองค่ายาเป็นเหมือนเงินเดือนบุคลากร กล่าวคือให้ สปสช.ตั้งงบแล้วโอนเงินเข้าโรงพยาบาลโดยตรง โดยให้ สปสช.จัดทำระเบียบภายในออกมาแล้วเสนอให้บอร์ด สปสช.และคณะรัฐมนตรีอนุมัติ ขณะที่กระทรวงการคลังก็บอกว่าจะออกกฎกระทรวงเป็นพิเศษเพื่อให้ทั้ง 7 โรงพยาบาลนี้จัดซื้อยาจาก อภ.ได้โดยตรง แต่ต้องผ่านความเห็นขอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน

“สมมุติค่ายา 1 หมื่นล้านบาท ให้ตั้งงบแล้วเงินไหลไปที่ 7 โรงพยาบาลนี้เลย สตง.บอกว่าแบบนี้ทำได้ นี่คือคำตอบที่ไม่ Make Sense เลย เพราะไม่ได้วางหลักการให้มีการกำกับดูแลให้ประชาชนเข้าถึงยาจริงๆ นอกจากนี้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม่มีอำนาจในการสั่งจ่ายเงินมากขนาดนี้ แล้วต้องขออำนาจพิเศษให้ ครม.อนุมัติ แล้วทำไมไม่ทำแบบนี้โดยให้ สปสช.เป็นผู้จัดซื้อต่อไปเสียเลย ทางกฤษฎีกาก็เคยมีคำแนะนำว่าเมื่อ สปสช.ไม่มีอำนาจ ก็สามารถแก้ไขกฎหมายเพิ่มอำนาจในการจัดซื้อยาก็ได้ ทำไมไม่ทำหรือเพราะคิดว่า สปสช.คือสมบัติของทักษิณ มองว่าเป็นเรื่องการเมือง เลยต้องลดทอน บั่นทอนหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพ มันใช่เหรอ” นายนิมิตร์ กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า ข้อเสนอในการหาทางออกในเรื่องนี้คือที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ... ต้องนำข้อเสนอของกฤษฎีกามาพิจารณา ตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและประธานคณะกรรมการแก้ไขกฎหมาย ต้องหยิบยกเรื่องการจัดซื้อยารวมมาทำให้ชัดเจนว่าอำนาจในการจัดซื้อยาเป็นของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งในมุมมองของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมองว่า สปสช.เป็นหน่วยงานที่เหมาะสมแล้ว