ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานคณะทำงานพัฒนา Protocal รักษามะเร็งของ สปสช.ย้ำ กำหนดแนวทางการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ถอดแบบจากต่างประเทศมาปรับให้เหมาะกับเมืองไทย ชี้ช่วยให้คนไข้ปลอดภัย-เข้าถึงยามากขึ้น

ศ.คลินิก พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ

ศ.คลินิก พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ ประธานคณะทำงานพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงการจัดทำแนวทางการรักษาโรคมะเร็ง (Protocol) ประกอบการจ่ายชดเชยค่าบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า Protocol ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำขึ้นนั้นต้องการเน้นให้ครอบคลุมโรคมะเร็งส่วนใหญ่ที่เป็นปัญหาสำคัญของชาติ โดยมีปัจจัยในการเลือกทำ Protocol ประกอบด้วย 1.พิจารณาจากความชุกหรือพบเจอบ่อย เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งตับ ฯลฯ

2.โรคมะเร็งที่เมื่อรักษาแล้วทำให้ประสิทธิภาพการรอดชีวิตดีขึ้น เช่น มะเร็งเต้านม ที่แม้จะผ่าตัดแล้ว แต่ก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นอีก ก็จะมีการรักษาเสริมเพื่อลดอัตราการกลับมาเป็นโรค เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น แม้กระทั่งมะเร็งปอดระยะแพร่กระจายยังมี Protocol ในการรักษาให้

ศ.คลินิก พญ.สุดสวาท กล่าวอีกว่า ในการจัดทำ Protocol นั้น ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมากำหนดแนวทางการรักษามะเร็งแต่ละชนิด เช่น คณะทำงานมะเร็งปอด ก็มีทั้งศัลยแพทย์ แพทย์รังสีรักษา แพทย์อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา รวมถึงผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถจากสถาบันโรงเรียนแพทย์ต่างๆ เข้ามาร่วมกำหนด Protocol โดยพิจารณาจากแนวทางการรักษาของต่างประเทศแล้วปรับให้เข้ากับประเทศไทย ภายใต้ข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ ทำให้มั่นใจได้ว่าแนวทางการรักษาที่กำหนดนั้นเป็นที่ยอมรับของวงการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันทางสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก็เห็นผลดีและหันมาอ้างอิง Protocol เดียวกับ สปสช.

“เนื่องจากเราไม่ได้รวยแบบอเมริกาแต่ก็เอาแนวทางการรักษาที่มีความจำเป็นและมีประสิทธิภาพดีเข้ามาใช้ ให้คนไข้ได้ใช้ยาเท่ากันหมดและเราสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ต่ำกว่าต่างประเทศ เพราะเน้นการใช้ยาสามัญ ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งทำให้ซื้อยาได้ถูกลง” ศ.คลินิก พญ.สุดสวาท กล่าว

ศ.คลินิก พญ.สุดสวาท กล่าวอีกว่า การกำหนด Protocol ประกอบการจ่ายชดเชยค่าบริการ ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยได้อย่างมาก เนื่องจาก สปสช.กำหนดว่าโรงพยาบาลที่เบิกจ่ายตาม Protocol ต้องมีเครื่องมือ แพทย์และพยาบาลตามมาตรฐานที่กำหนด มีแนวทางการจ่ายยาที่ชัดเจน เช่น แพทย์อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา แพทย์รังสีรักษา หรือศัลยแพทย์ที่ผ่านการอบรมเท่านั้นที่สามารถให้ยาได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ สปสช.เริ่มกำหนด Protocol ในการรักษาโรคมะเร็งตั้งแต่ปี 2551 โดยปัจจุบันมีแนวทางการรักษา 8 กลุ่มโรค 11 Protocol และจะเพิ่มเป็น 11 กลุ่มโรค 21 Protocol ในปีงบประมาณ 2561 ประกอบด้วย 1.มะเร็งเต้านม2.มะเร็งปอด 3.มะเร็งลำไส้ใหญ่ 4.มะเร็งหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร 5.มะเร็งตับทางเดินน้ำดี 6.มะเร็งหลังโพรงจมูก 7.มะเร็งนรีเวช ปากมดลูก รังไข่ มดลูก 8.มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ 9.มะเร็งกระดูก 10.มะเร็งโรคเลือดผู้ใหญ่ และ 11.มะเร็งในเด็ก

ศ.คลินิก พญ.สุดสวาท กล่าวอีกว่า ในส่วนของโรคมะเร็งที่ไม่ได้กำหนด Protocol ไว้ ก็ยังสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพในการรักษาได้ เพียงแต่วิธีการจ่ายชดเชยค่าบริการจะต่างออกไป ส่วนประเด็นที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการจำกัดแนวทางการรักษาของแพทย์นั้น ต้องบอกว่าทุกคนไม่สามารถได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการก็ยังมีกฎเกณฑ์ว่าอะไรเบิกได้ อะไรเบิกไม่ได้ เพราะฉะนั้นแต่ละกองทุนก็มีกฎเกณฑ์ต่างกันออกไป

“แต่การที่ สปสช.กำหนด Protocal ก็ทำให้การเข้าถึงโรคมะเร็งของคนไข้ไม่ว่าจะสิทธิไหน สามารถเข้าถึงยาได้เกือบ 100% ยกเว้นยาบางตัวที่แพงมากๆ หรือยาที่เพิ่งออกมาใหม่ๆ ส่วนผลการรักษายังไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นทางการ แต่หากพิจารณาสถิติการรอดชีวิตของผู้ป่วยก็ใกล้เคียงกับในเอเชีย ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ที่แน่ๆ คือคนไข้เข้าถึงยาได้มากขึ้นกว่าตอนไม่มีแน่นอน” ศ.คลินิก พญ.สุดสวาท กล่าว