ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิโครงการวิจัย ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุ การเคลื่อนย้ายแรงงานในประชาคมอาเซียนเป็นเรื่องสำคัญ ต้องคุ้มครองสิทธิแรงงานและทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย หวังจัดระเบียบแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและลดปัญหาการค้ามนุษย์

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 ในงานสัปดาห์จุฬาฯ อาเซียนครั้งที่ 6 และงานเสวนาประชาคมอาเซียนของรัฐสภา ครั้งที่ 3 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และ 100 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง "ก้าวต่อไปของอาเซียนในโลกที่เปลี่ยนแปลง" ณ ชั้น 8 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช ที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิโครงการวิจัย ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐถาพิเศษ "การเคลื่อนย้ายแรงงานในประชาคมอาเซียน" ว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานในประชาคมอาเซียนถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมีผลกระทบทั้งประเทศต้นทาง หรือ ประเทศที่มีการย้ายถิ่นออก และประเทศปลายทาง หรือประเทศที่มีการรับแรงงานเข้า ซึ่งกลุ่มประเทศนี้ ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยมีการรับแรงงานเข้าประเทศมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องมีการบริหารจัดการด้านแรงงานที่มีประสิทธิภาพ แม้ที่ผ่านมาจะมีปฏิญญาสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการคุ้มครองและการส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ แต่ยังถือว่าการดำเนินงานแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งอาเซียนจำเป็นต้องให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีและการให้สถานภาพ รวมถึงการคุ้มครองสิทธิของบุคคลในครอบครัวของแรงงานย้ายถิ่นให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้วย

ทั้งนี้อาเซียนได้พยายามแก้ปัญหาด้านแรงงานย้ายถิ่นมาโดยตลอด อาทิ การตั้งกฎระเบียบการนำเข้าแรงงานของประเทศกลุ่มอาเซียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยการจัดหาแรงงานแบบรัฐต่อรัฐ ทำให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย ป้องกันการนำไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์

สำหรับสถานการณ์การเคลื่อนย้ายแรงงานในประเทศไทยได้มีความคืบหน้าในการตรากฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหลายฉบับ เพื่อแก้ปัญหาแรงงานย้ายถิ่นที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อาทิ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2560 ที่มีการเพิ่มโทษการใช้แรงงานเด็ก และพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่มีการกำหนดบทลงโทษ โดยเฉพาะโทษปรับในอัตราค่าธรรมเนียมที่สูงกับนายจ้างที่รับแรงงานต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ หรือ รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือ รับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงาน ทั้งนี้เชื่อว่าพระราชกำหนดฉบับนี้จะข่วยแก้ปัญหาแรงงานเถื่อน ทำให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง