ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.รับทราบความคืบหน้าแก้ปัญหา “งบกองทุนรักษาพยาบาล อปท.ไม่เพียงพอ” ลุ้นสำนักงบฯ อนุมัติงบกลางหนุนปี 60 เพิ่มเติม 2.5 พันล้าน หลัง อปท.เสนอขอสำนักงบฯ ด้าน คกก.กระจายอำนาจฯ เตรียมพิจารณาอนุมัติงบรักษาพยาบาล อปท.ปี 61 เพิ่มเติม 3 พันล้านบาท 10 ส.ค.นี้ “หมอปิยะสกล” เปรยเตรียมหารือนายกฯ หากยังไม่คืบ ขณะที่ “ปลัด สธ.” เผยกองทุนรักษา อปท.ยอดหนี้ค้าง 1.1 พันล้านบาท คาดสิ้นปี 60 ยอดหนี้สูงถึง 2 พันล้าน แนะดึงงบท้องถิ่นช่วย

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ – นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด สปสช.ได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานกรณีงบค่ารักษาพยาบาลสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงานหรือลูกจ้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่เพียงพอ ภายหลังจากการประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ได้มอบให้ สปสช.ประสานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด และนำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานในวันนี้

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในส่วนงบค่ารักษาพยาบาลสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลฯ อปท.ที่ไม่เพียงพอนั้น ได้ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ สปสช. รวมถึง 12 สมาคม/สมาพันธ์ อปท.ที่ร่วมลงนาม ติดตามการของบกลางและให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของบกลาง ตามที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีหนังสือเสนอของบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,500 ล้านบาท ไปยังสำนักงบประมาณเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นมาตรการแก้ไขระยะสั้น

ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวในงบประมาณตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเสนอคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ พิจารณากำหนดแนวทางการตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลของข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นตามข้อมูลข้อเท็จจริง และจากการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงิน การคลังและงบประมาณ ภายใต้คณะกรรมการกระจายอำนาจฯ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ได้รับทราบปัญหาและมีมติเห็นชอบเสนอให้คณะกรรมการกระจายอำนาจฯ สำรองเงินอุดหนุนรายการเงินอุดหนุนตามอำนาจหน้าที่และภารกิจการถ่ายโอน 3,000 ล้านบาท เพิ่มเติมจากงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาล ปี 2561 ที่ได้รับจัดสรรจำนวน 6,991.81 ล้านบาท และจะนำต่อคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ในวันที่ 10 ส.ค.นี้

ขณะที่ในส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน อปท.ที่ได้มอบให้ สปสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนนั้น ขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น เพื่อใช้เป็นแนวทางเพื่อหารือกับนักวิชาการ และอาจเชิญนักวิชาการดำเนินการเพื่อร่วมวิจัย

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการกองทุน อปท.จึงได้มอบ สปสช. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมพิจารณาเพื่อปรับปรุงข้อตกลงเพื่อให้บุคคลผู้มีสิทธิตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้นำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว อาทิ การทดรองจ่าย วัตถุประสงค์ของเงินค่าบริหารจัดการ และองค์ประกอบคณะกรรมการ ซึ่งจะมีการนำเสนอต่ออนุกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลฯ อปท. ในวันที่ 30 สิงหาคม นี้

“วันนี้เป็นการรับทราบความคืบหน้าการแก้ปัญหางบประมาณกองทุน อปท.ที่ไม่เพียงพอ และขอให้นำความคืบหน้าการแก้ปัญหาเพิ่มเติมมารายงานต่อที่ประชุมในครั้งต่อไป หากยังไม่มีความคืบหน้าของงบประมาณที่จะมาอุดหนุนอาจต้องยื่นหนังสือทวงถามและนำหารือต่อนายกรัฐมนตรี เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปคงส่งผลกระทบ ซึ่งไม่ใช่การบริหารจัดการที่ดี” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากปัญหางบกองทุนรักษาพยาบาล อปท.ไม่เพียงพอ ได้ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ซึ่งขณะนี้มีรายงานหนี้ค้างชำระ 1,100 ล้านบาทแล้ว และคาดกว่าเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2560 จะมียอดหนี้ค้างชำระ 1,500-2,000 ล้านบาท เป็นภาระที่ รพ.ต้องแบกรับไว้ และยังคงต้องให้บริการต่อเนื่อง ทั้งนี้หากเป็นไปได้อยากให้มีการนำงบประมาณในส่วนของท้องถิ่นมาอุดหนุนก่อน

ทั้งนี้การรักษาพยาบาลพนักงานและลูกจ้าง อปท.ท้องถิ่นแต่ละแห่งจะบริหารค่ารักษาพยาบาลตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในแต่ละแห่ง ซึ่งมีจำกัด จึงทำให้ อปท.หลายแห่งมีปัญหาการเข้าถึงการรักษา ในปี 2555 รัฐบาลขณะนั้นจึงมีนโยบายให้ สปสช.เข้าบริหารจัดการด้านการรักษาพยาบาลให้กับพนักงานและลูกจ้าง อปท. โดยรวมเป็นกองทุนบริหารความเสี่ยง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นมา และได้มีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง ผลที่เกิดขึ้นนอกจากทำให้พนักงานหรือลูกจ้าง อปท.เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ปี 2558 กองทุนรักษาพยาบาลฯ อปท.เริ่มมีปัญหาติดลบ โดยปี 2559 ต่อเนื่องปี 2560 ด้วยอัตราการรับบริการและการเบิกจ่ายค่าบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จนเกิดผลกระทบต่องบประมาณกองทุนรักษาพยาบาล อปท.ในปี 2560 และปีต่อไป จึงต้องมีการหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหานี้