ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.ศูนย์ศึกษากระเหรี่ยงฯ เผย กลุ่มเปราะบางเข้าไม่ถึง “สิทธิบัตรทอง” ผลจากกฤษฎีกาตีความพลาด จำกัดผู้มีสิทธิเฉพาะปวงชนชาวไทยมีสัญชาติไทย ชี้ประเทศมีคนไทยหลากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มคนไร้บ้าน คนไทยพลัดถิ่น ชนกลุ่มน้อย และชาวมอแกน อยู่ในประเทศตั้งแต่เกิด พร้อมแนะ สปสช.ต้องกล้าทักท้วงกฤษฎีกา ส่งตีความมาตรา 5 ใหม่

นายสุรพงษ์ กองจันทึก

เมื่อเร็วๆ นี้ ในการเสวนา “กลุ่มเปราะบาง : ความท้าทายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ภายใต้เวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับยริการระดับประเทศ ประจำปี 2560 “ปฏิรูปการรับฟังความคิดเห็น: จุดเริ่มต้นจากนโยบายสู่การปฏิบัติ” จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากระเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า สิทธิสาธารณสุขเป็นสิทธิมนุษยชน คนทุกคนต้องได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกันในฐานะเป็นคน ไม่สามารถปฏิเสธและเลือกปฏิบัติ แม้แต่ภาวะสงคราม หากมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นก็ต้องได้รับการรักษา จะเห็นได้ว่าสิทธิสาธารณสุขเป็นเรื่องที่อยู่เหนือพรมแดน หรือแม้แต่การเมืองเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับชีวิต

ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการจัดการสิทธิมนุษยชน 2 เรื่อง คือ สิทธิด้านการศึกษาและสาธารณสุข โดยสิทธิสาธารณสุขแม้ว่ารัฐบาลจะให้สิทธินี้ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับประชาชน แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงหรือที่เรียกกว่า “กลุ่มเปราะบาง” อาทิ กลุ่มคนไร้บ้านที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิเพราะติดต้องมีบัตรประชาชน ต้องมีสัญชาติไทย กลุ่มคนที่ไม่ได้แจ้งเกิด ซึ่งไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ แม้ว่าจะอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่เกิดก็ตาม คนไทยพื้นที่สูงหรือที่เรียกชนกลุ่มน้อย มีทั้งชาวเขาและชนพื้นเมืองดั้งเดิม เป็นกลุ่มคนที่รัฐไม่สามารถติดต่อได้ หรือให้มาทำบัตรหรือเอกสารหลักฐานได้ เพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

กลุ่มเด็กที่เกิดในโรงพยาบาลแต่พ่อแม่ทิ้งไป ไม่สามารถสืบหาพ่อแม่ได้ ซึ่งมีจำนวนนับแสนคนในประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลมูลนิธิช่วยเหลือสังคมแม่สอด มีรายงานเด็กที่ถูกพ่อแม่ทิ้งในโรงพยาบาลถึง 170 คนและไม่ได้รับการแจ้งเกิดแต่อยู่ในประเทศไทย เติบโตในสังคมไทย และพูดภาษาไทยได้เพียงภาษาเดียว โดยในจำนวนนี้มีเด็ก 5 คนที่ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ มีรายงานเด็กที่ใส่รหัสตัว G (เด็กนักเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยที่ยังไม่ได้ถือครองสัญชาติไทย) ถึง 90,000 คน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีความพยายามผลักดันเพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเช่นเดียวกับสิทธิเรียนฟรี

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกที่เข้าไม่ถึงสิทธิสาธารณสุข อาทิ ชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ซึ่งเป็นคนไทยดั้งเดิมและไม่เคยย้ายไปไหน เช่นเดียวกับกลุ่มผู้พิการที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือทำบัตรประชาชน เพราะมองว่าไม่ได้ไปไหน แต่เมื่อต้องใช้สิทธิก็กลายเป็นผู้ไม่มีสิทธิ กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ พ.ร.บ.สัญชาติฯ ได้คืนสัญชาติไทยให้ในปี 2555 และกลุ่มพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งแต่เดิมเรามีกฎหมายยกเว้นให้พระภิกษุไม่ต้องทำบัตรประชาชน แต่ได้มีการแก้ไขในปี 2555 โดยยังมีพระภิกษุที่ยังไม่มีบัตรประชาชนและยังเข้าไม่ถึงสิทธิสาธารณสุขเช่นกัน

“ปัญหาการเข้าถึงสิทธิด้านสาธารณสุขของประเทศไทย มาจากวิธีคิดกฎหมายที่เป็นปัญหา โดยเราแยกคนในประเทศออกเป็น 2 กลุ่มเท่านั้น คือ กลุ่มมีบัตรประชาชนถือเป็นคนสัญชาติไทย และกลุ่มคนไม่มีบัตรก็ไม่ถือเป็นสัญชาติไทย และถูกจัดเป็นคนต่างด้าว ทั้งที่ในกลุ่มคนที่ถูกจัดคนต่างด้าวมีหลายกลุ่มหลายแบบ ทำให้ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนและทำให้เกิดปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ ทั้งที่เป็นคนไทย” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากระเหรี่ยงและพัฒนา กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า เดิม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดให้ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือผู้มีชื่อในทะเบียนบ้าน แต่ผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้านมี 2 แบบ คือที่เป็นคนไทยและไม่ใช่คนไทย ดังนั้นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขณะนั้นจึงให้สิทธิคนไทยและคนไม่ใช่คนไทยแต่มีชื่อในทะเบียนบ้านด้วย และต่อมามีชาวเขามาใช้สิทธิ จึงมีคำถามว่าไม่ใช่คนไทยมาใช้สิทธิได้หรือ และเพื่อให้เกิดความชัดเจนกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ถามไปยังกฤษฎีกา และกฤษฎีกาหลังตีความจึงนำเรื่องเข้าสู่ ครม.ในปี 2550 และมีมติตามกฤษฎีกาตีความว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกฎหมายที่ออกมาตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย จึงชี้ว่าคนมีสิทธิคือปวงชนชาวไทย และปวงชนชาวไทยคือคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ดังนั้นต่อมาจึงมีการเปลี่ยนสโลแกนจาก 30 บาทรักษาทุกโรค เป็น 30 บาท ช่วยคนไทยห่างไกลโรคแทน ทำให้คนเหล่านี้หมดสิทธิ

“ต้องถามว่ากฤษฎีกาตีความถูกหรือไม่ เพราะนอกจากหมวดสิทธิเสรีภาพปวงชนชาวไทยแล้วยังมีหมวดสิทธิและหน้าที่ปวงชนชาวไทยที่ระบุว่าบุคคลมีหน้าที่ปฎิบัติตามกฎหมาย ซึ่งหากตีความว่าผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชนไม่ใช่คนไทยจึงไม่ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นั่นหมายถึงบุคคลเหล่านี้ก็ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วย แต่การจะตีความแบบนี้ก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะกฎหมายกำหนดสิทธิมี 2 แบบ คือ สิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชน โดยการรักษาพยาบาลต้องอยู่ในสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่สิทธิพลเมือง ดังนั้นจึงมองว่ากฤษฎีกาที่พิจารณาเรื่องนี้ตีความพลาด และทำให้คนเหล่านี้ถูกจำกัดสิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณสุขไป”

ทั้งนี้การตีความของกฤษฎีกาข้างต้นนี้ยังขัดแย้งกับการตีความของกฤษฎีกาในภายหลัง จากกรณีที่แม่สอดมีคำถามว่า เทศบาลนครแม่สอดจะยกเป็นเทศบาลนครแม่สอดได้หรือไม่ เนื่องจากในพื้นที่มีประชากรที่ไม่ใช่คนไทยจำนวนมาก ต้องลดเป็นเพียงเทศบาลเมืองหรือไม่ ซึ่งกฤษฎีกาตีความให้คนที่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่รัฐเก็บข้อมูลไว้แล้วถือเป็นราษฎร์ไทย ดังนั้นวันนี้จึงมีข้อเสนอ ดังนี้

1.สปสช.ต้องส่งตีความในมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และต้องกล้าทักท้วงกฤษฎีกาถึงความผิดพลาดในการตีความ

2.กลุ่มเปราะบางที่ไม่มีเลข 13 หลักและบัตรประชาชน ต้องทำให้เข้าถึงสิทธิการรักษา ซึ่งระหว่างดำเนินการต้องมีระบบดูแล

และ 3.ต้องให้คนไม่มีสิทธิอะไรซื้อประกันสุขภาพได้ และต้องคุ้มครองเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ซื้อประกันสุขภาพในราคา 365 บาทเพราะยังถือเป็นผู้ไม่มีรายได้

นอกจากนี้ต้องทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง สปสช.และกระทรวงมหาดไทยในการดูแลกลุ่มเปราะบางกรณีเกิดปัญหาการใช้สิทธิ เพื่อให้เกิดการดูแลคนไทยอย่างเท่าเทียมกัน