ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.บ้านแพ้วเผยสัดส่วนผู้ป่วยนอกเขตบริการพุ่งแตะ 55% สะท้อนความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อโรงพยาบาล ชี้เป็นความภาคภูมิใจ แต่อีกมุมก็เกิดภาระตามมาเพราะคนป่วยบัตรทองย้ายสิทธิเข้ามาแต่คนไม่ป่วยไม่ย้ายตามมาด้วย เลยไม่มีงบค่ารายหัวมาช่วยเฉลี่ยค่าใช้จ่าย

นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร

นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า นับจากออกนอกระบบเป็นต้นมา โรงพยาบาลได้พัฒนาในด้านต่างๆ จนได้รับการยอมรับจากประชาชนเป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่นจำนวนผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 700 คน/วัน เป็น 3,000 คน/วัน ขณะที่สัดส่วนผู้ป่วยที่อยู่นอกเขตบริการเข้ามารับการรักษาในสัดส่วน 55% ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าเติบโตขึ้นจากอดีตอย่างมาก ทั้งผู้ป่วยที่มารับการรักษาและจ่ายค่าบริการเอง ผู้ป่วยที่ถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลอื่น และผู้ป่วยที่ย้ายสิทธิเข้ามา ส่วนผู้ป่วยที่อยู่ในเขตบริการอยู่ที่ 45% ซึ่งสาเหตุที่จำนวนผู้ป่วยนอกเขตเข้ามารับบริการจำนวนมากเนื่องจากศรัทธาและมีความมั่นใจในการให้บริการของโรงพยาบาล

“คำว่าศรัทธาอาจจะหมายถึงศรัทธาในทีมแพทย์ ศรัทธาในเครื่องไม้เครื่องมือ ศรัทธาในการให้บริการ ซึ่งโรงพยาบาลบ้านแพ้วพยายามให้บริการด้วยความรวดเร็วและสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ป่วย เราวัดความพึงพอใจตลอดและสามารถสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ป่วยได้ถึง 80% ทุกปี อีกส่วนคือเรามีทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาค่อนข้างเยอะ ก็ทำให้ผู้ป่วยเลือกใช้บริการที่เราเยอะขึ้น” นพ.พรเทพ กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า การมีผู้ป่วยนอกเขตมาใช้บริการแบบนี้ ส่วนหนึ่งก็ทำให้โรงพยาบาลภาคภูมิใจเพราะแสดงว่าผู้ป่วยศรัทธาและมั่นใจในการให้บริการ อย่างไรก็ดี อีกมุมหนึ่งก็มีข้อเสียอยู่บ้าง เนื่องจากอาจเกิดเป็นภาระงบประมาณอยู่บ้างในกรณีของผู้ป่วยที่ย้ายสิทธิมา

“สัดส่วนผู้ป่วยนอกเขต ส่วนใหญ่ใช้สิทธิ UC ซึ่งหลักการจ่ายค่าตอบแทนของ UC หลักๆ คือค่าเหมาจ่ายรายหัว คนที่ป่วยก็ให้ค่ารายหัว คนที่ไม่ป่วยก็ให้ค่ารายหัว หลักการคือเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข คนไหนที่ไม่ป่วย เราก็เอาเงินจากกคนกลุ่มนี้มาเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลคนป่วย ซึ่งในส่วนของโรงพยาบาลบ้านแพ้วคือเมื่อผู้ป่วยมีศรัทธามากๆ คนจำนวนหนึ่งก็ย้ายสิทธิเข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนป่วยแต่คนที่ไม่ป่วยไม่ได้ย้ายสิทธิตามมาด้วย ทำให้โรงพยาบาลต้องดูแลเฉพาะผู้ป่วยโดยไม่มีงบประมาณจากคนไม่ป่วยเข้ามาช่วยแชร์ อันนี้ก็เป็นโจทย์หนึ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่แต่เราก็พยายามบริหารจัดการให้ดูแลรักษาผู้ป่วยให้ได้มากที่สุดเพราะเขามาด้วยความศรัทธา เราก็ไม่อยากให้ศรัทธานั้นเสียไป” นพ.พรเทพ กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวว่า ได้หารือปัญหานี้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่มีแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจนเนื่องจากต้องเป็นการตัดสินใจในระดับนโยบาย แต่ทางโรงพยาบาลก็มีแนวทางแก้ไขบางส่วน เช่น พยายามบอกผู้ป่วยว่าโรงพยาบาลอื่นก็ให้บริการที่ดีไม่ต่างจากบ้านแพ้ว หากเป็นไปได้ก็จะแนะนำให้ไปรับบริการที่โรงพยาบาลใกล้บ้านก่อน ซึ่งการสร้างความเข้าใจนี้ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยยอมใช้สิทธิใกล้บ้านโดยที่ไม่ต้องย้ายตัวเองเข้ามาอยู่ในเขตบริการนี้ อย่างไรก็ดี หากรับบริการในโรงพยาบาลใกล้บ้านแล้วมีปัญหา โรงพยาบาลบ้านแพ้วก็ยินดีรับดูแลให้เช่นกัน

นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า การออกนอกระบบมาเป็นองค์การมหาชน ทำให้โรงพยาบาลมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ การพัฒนาด้านต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าหากให้โรงพยาบาลบางส่วนที่มีศักยภาพออกนอกระบบเพิ่มอีก จะเป็นส่วนที่ช่วยลดภาระงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขได้มาก

“เรามีกฎหมายบางอย่างที่ช่วยเรา มีบอร์ดที่ใช้เวลาตัดสินใจเร็ว ทำให้เราคิดอะไรใหม่ๆ นอกกรอบได้ ถ้าอยู่ในระบบรัฐก็ต้องเสนอเรื่องตามลำดับชั้นและส่วนผู้บริหารจะให้โรงพยาบาลเดียวก็ไม่ได้ ต้องให้เหมือนกันหมดทั้งแถบนั้น แต่บ้านแพ้ว คิดเองทำเอง ทำได้เลย ง่ายกว่ากันเยอะ ส่วนตัวเชียร์ให้โรงพยาบาลจำนวนหนึ่งออกนอกระบบเพราะจะช่วยลดภาระกระทรวงฯ เช่น บางโรงพยาบาลใช้งบลงทุน 1,000 ล้าน/ปี ถ้าออกนอกระบบ กระทรวงฯอาจจะให้งบแค่ 200-300 ล้านแล้วที่เหลือให้เขาดูแลตัวเอง จะช่วยประหยัดได้ 700 ล้านบาท/ปี เอาเงิน 700 ล้านไปช่วยโรงพยาบาลที่ไม่สามารถออกนอกระบบได้อย่างนี้ดีกว่า” นพ.พรเทพ กล่าว