ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

14 องค์กร จี้รัฐบาลรื้อ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว เหตุขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ขาดการมีส่วนร่วม เนื้อหาไร้ประสิทธิภาพ ไม่คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงอย่างแท้จริง แถมให้อำนาจ พม.มากเกินไป

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2560 เครือข่ายองค์กรป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งประกอบด้วย องค์กรด้านผู้หญิง เด็ก และครอบครัว รวม 14 องค์กร จัดเวทีเสวนา “รื้อ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว: เสียงจากผู้ถูกกระทำและภาคสังคม” เพื่อผลักดันให้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าว ให้มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวอย่างแท้จริง

นางสาวอุษา เลิศศรีสันทัด

นางสาวอุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการมูลนิธิผู้หญิง กล่าวว่า ตามที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว พ.ศ…. เพื่อใช้แทน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เครือข่ายที่ทำงานด้านผู้หญิง เด็ก และครอบครัว มองว่าร่างที่จัดทำขึ้นใหม่ยังขาดความชัดเจน เพราะมีการบรรจุเนื้อหาเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวแทรกเข้ามาใน พ.ร.บ. คุ้มครองสวัสดิภาพผู้ถูกกระทำความรุนแรง ซึ่งงาน 2 ด้านนี้มีความแตกต่างกันในเชิงหลักการและกระบวนการทำงาน เช่น การทำร้ายด้วยความรุนแรงเป็นความผิดทางอาญา กฎหมายที่จะออกมาจึงต้องให้ความสำคัญกับการอำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกระทำเป็นหลักไม่ใช่การไกล่เกลี่ย ประนีประนอม และไม่สั่งลงโทษ เพราะจะทำให้ผู้ที่ใช้ความรุนแรงกลับมากระทำซ้ำได้อีก ขณะที่ผู้ถูกกระทำอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม ขัดต่อ“อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ” ของสหประชาชาติ ที่รัฐบาลไทยก็เป็นภาคีอยู่ นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังไม่คุ้มครองผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเท่าที่ควร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แต่ให้ความสำคัญกับบุตรเป็นหลัก อีกทั้งมีเนื้อหาบางส่วนที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว และกลไกการทำงานตามร่าง พ.ร.บ.ไม่มีความชัดเจน ขึ้นกับการตีความของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

“ขอส่งเสียงไปยังรัฐบาลให้ยับยั้งร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ แล้วนำกลับมาทบทวนและปรับปรุงเนื้อหา เพราะเป็นกฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถคุ้มครองผู้ประสบปัญหาได้จริง และไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติ อีกทั้งยังขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 77ที่ระบุว่าการออกกฎหมายใหม่ต้องมีกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและทั่วถึง” นางสาวอุษา กล่าว

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ สมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัวฉบับนี้ เกิดจากเจตนาดีที่จะปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่เนื้อหาของร่างที่ออกมายังมีจุดที่ต้องปรับปรุงหลายประการ ทั้งในแง่หลักการที่ไม่มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิและอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ถูกกระทำอย่างชัดเจนเพียงพอ นอกจากนี้ การออกแบบกลไกการทำงานตามร่าง พ.ร.บ. นี้ แทนที่จะส่งเสริมให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้อำนาจหน้าที่กับแต่ละหน่วยงานได้แสดงบทบาทตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

แต่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ กลับรวมศูนย์การทำงานไว้ที่หน่วยงานของกระทรวง พม. มากเกินไป ในขณะที่กระทรวง พม. เองก็ยังไม่ได้พิสูจน์ให้สังคมเห็นว่ากระทรวงมีบุคลากรที่มีศักยภาพที่จะรับภาระงานดังกล่าวอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดความกังวลว่างานช่วยเหลือคุ้มครองผู้ประสบปัญหาความรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน จะประสบปัญหาระบบงานที่เป็นคอขวด โดยงานจะไปกระจุกตัวอยู่ที่หน่วยงานของกระทรวง พม. ทำให้การทำงานล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ

“ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ทำให้องค์กรที่ทำงานแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจากภาคประชาสังคม และหน่วยงานของรัฐบางส่วน เกิดความกังวลว่า ถ้าปล่อยให้ร่าง พ.ร.บ. นี้ผ่านออกมาในลักษณะที่เป็นอยู่ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวของประเทศไทยจะลดลงกว่าเดิม” ดร.วราภรณ์ กล่าว

นางฐานิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ตอบสนองความเป็นจริงของครอบครัวในสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป แต่กลับให้ความสำคัญกับองค์ประกอบของความเป็นครอบครัวที่ต้องมีพ่อแม่ ลูก และเน้นเรื่องการจดทะเบียนสมรสและการหย่า ขณะที่แนวทางการส่งเสริมครอบครัวในร่างฉบับนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน หากรัฐบาลจะออกกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะประเทศไทยยังไม่เคยมีกฎหมายลักษณะนี้มาก่อน แต่เนื้อหาของกฎหมายควรเน้นที่การส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ และบทบาทของครอบครัว ตลอดจนมาตรการในการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ของครอบครัว การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ครอบครัวมีความสามารถในการดูแลสมาชิกครอบครัวได้อย่างมีคุณภาพ การจัดบริการพื้นฐานที่ครอบครัวควรได้รับ รวมถึงการดูแลและคุ้มครองครอบครัวที่อยู่ในสภาวะยากลำบากด้วย ส่วนกลไกการทำงานต้องมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ เช่น ภาครัฐมีหน้าที่ออกกฎหมายคุ้มครอง และสนับสนุนงบประมาณ ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และองค์กรภาคประชาสังคมเป็นฝ่ายลงมือปฏิบัติการในการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว เป็นต้น