ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธาน กมธ.สาธารณสุขชี้ปัญหากำลังคนสาธารณสุข รัฐต้องปรับแนวคิดจัดสรรคนตามปริมาณงาน และเพิ่มสวัสดิการแก่ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานกระทรวงสาธารณสุขเพื่อจูงใจว่าไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการก็ได้

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากเวทีสัมมนา “ปัญหา: ทางออก กำลังคนด้านสุขภาพ” ซึ่งจัดขึ้นโดย กมธ. เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าประเด็นหลักที่มีการพูดคุยกันไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และอีก 7 สาขาวิชาชีพ ล้วนแล้วแต่ต้องการกำลังคนเพิ่ม และคนที่มีอยู่แล้วก็ล้วนต้องการบรรจุเข้าเป็นข้าราชการ ซึ่งก็คงต้องฝากความหวังไว้กับอนุกรรมการด้านสาธารณสุข ของคณะกรรมการ กำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ที่มี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา เป็นประธาน โดย คปร.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการชุดนี้ขึ้นมาดูแลเรื่องสาธารณสุขโดยเฉพาะ ขณะที่ นพ.สุพรรณ ก็มีความรู้ในเรื่องบุคลากรสาธารณสุขอย่างดี

อย่างไรก็ดี ในส่วนของ กมธ.เอง มีความเห็นว่าแนวทางการจัดการด้านกำลังคนของรัฐบาลหรือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีแนวคิดอยู่สูตรเดียวคือ One size fit all ทุกกระทรวงคิดเหมือนกันหมด ซึ่งไม่น่าจะใช่ ตัวอย่างเช่น กระทรวงศึกษาธิการมีบุคลากร 7 แสนคน ส่วนกระทรวงสาธารณสุขมี 2 แสนคน ขณะที่บริบทปัจจุบันมีเด็กเกิดน้อยลง แต่ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ คำถามคือในอนาคตข้างหน้าสัดส่วนบุคลากรจะเป็นเช่นนี้อยู่หรือไม่

นพ.เจตน์ กล่าวต่อไปว่า แนวทางที่ กมธ.คิดว่าควรจะเป็นคือ 1.ต้องเปลี่ยนวิธีคิดการบริหารกำลังคนใหม่ ไม่ใช่ทุกหน่วยงานต้องเท่ากันแต่ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณงานโดยดูที่ข้อมูลเป็นหลัก

2.เพิ่มสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการแก่กลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการ เช่น พนักงานข้าราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราวเพื่อจูงใจให้อยู่ในสถานะเดิมโดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาเป็นข้าราชการ

“ถามว่าแรงจูงใจของข้าราชการในปัจจุบันยังดีเหมือนเดิมไหม คนที่เข้ามาเป็นข้าราชการเพราะอยากได้สวัสดิการรักษาพยาบาล แต่จะได้แน่เหรอในเมื่อข้าราชการ 4.5 ล้านมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไป 7.1 หมื่นล้านในปี2559 กรมบัญชีกลางจะอยู่เฉยๆ ได้เหรอ มันก็ต้องหาทางควบคุมค่าใช้จ่ายและกระทบต่อข้าราชการในอนาคตข้างหน้าอย่างหนีไม่พ้น อีกด้านหนึ่งก็มีพนักงานข้าราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว กลุ่มเหล่านี้ก็ต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้น เช่น เงินเดือนที่สูงกว่า สวัสดิการอื่นๆ ก็ควรได้ไม่ด้อยกว่าข้าราชการ เช่น อาจตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อให้ประโยชน์กลับคืนสู่กลุ่มนี้หรือใช้แนวทางอื่นๆ แต่หลักการคือต้องมีประโยชน์ สิทธิ สวัสดิการเพิ่มขึ้นเพื่อจูงใจให้อยู่แบบนี้ ไม่ต้องมาเป็นข้าราชการก็ได้” นพ.เจตน์ กล่าว

กมธ.คิดว่าควรจะเป็นคือ 1.ต้องเปลี่ยนวิธีคิดการบริหารกำลังคนใหม่ ไม่ใช่ทุกหน่วยงานต้องเท่ากันแต่ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณงานโดยดูที่ข้อมูลเป็นหลัก

2.เพิ่มสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการแก่กลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการ เช่น พนักงานข้าราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราวเพื่อจูงใจให้อยู่ในสถานะเดิมโดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาเป็นข้าราชการ