ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สายด่วน Call Center 4 องค์กร กรมบัญชีกลาง สปส. สพฉ.และ สปสช. รุกบูรณาการข้อมูลหลักประกันสุขภาพ ช่วยอุดช่องว่างนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ประชาชนเข้าถึงการรักษา สร้างความเข้าใจหลักเกณฑ์การใช้สิทธิอย่างถูกต้อง พร้อมขยายงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์

นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส และประธานกลุ่มภารกิจงานสาขาเขตและการมีส่วนร่วม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ ผู้บริหารและเจ้าหน้าจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรมบัญชีกลาง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) และ สปสช.เข้าร่วมการอบรมข้อมูลบูรณาการด้านหลักประกันสุขภาพ ครั้งที่ 3 ตามแผนบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง 3 กองทุน ทั้งการดูแลผู้ป่วยตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) ที่ดำเนินการโดยสถาบันการแพทย์ฉุกฉเฉิน (สพฉ.) ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อปิดช่องว่างการเข้าถึงบริการ รวมถึงการสร้างความเข้าใจกับประชาชนถึงการรับการรักษาพยาบาลภายใต้ UCEP นี้ ซึ่ง call center ของทั้ง 3 กองทุน และ สพฉ.ต้องมีการสื่อสารที่ตรงกัน และการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ทำอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังมีงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งเป็นงานยากเพราะเป็นงานนามธรรม ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกัน โดยเฉพาะกรณีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมถึงค่ารักษาพยาบาล เฉพาะกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขณะนี้มีค่าใช้จ่ายสูงถึงกว่า 7 พันล้านบาทและคาดว่าจะขยับถึง 1.7 หมื่นล้านบาทต่อปี ดังนั้นจึงต้องเร่งทำงานเชิงป้องกันเพื่อลดอัตราการเกิดผู้ปวยรายใหม่ เช่นเดียวกับการดำเนินงานระบบดูแลระยะยาวในผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC) และการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในระยะสุดท้ายของชีวิต (Palliative Care)

นพ.รัฐพล กล่าวต่อว่า จากที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำเรื่องกลุ่มคนไร้บ้าน สปสช.ได้มีนโยบายเพื่อให้คนเหล่านี้เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล เพราะเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาการถึงสิทธิ ซึ่งการดำเนินงานเรื่องนี้จะช่วยส่งผลต่อผู้มีสิทธิทุกระบบ เนื่องจากคนไร้บ้านมีต้นเหตุหลายปัจจัย เช่น หนีออกจากบ้าน ผู้สูงอายุป่วยเป็นอัลไซเมอร์ เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นคนไทย แม้ว่าจะพิสูจน์ความเป็นคนไทยได้แต่ต้องใช้เวลานาน และที่น่ากังวลคือในกลุ่มนี้ร้อยละ 70 ป่วยเป็นโรคจิตเวชที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคม ดังนั้นทำอย่างไรให้คนเหล่านี้เข้าถึงการรักษา ในอนาคตอาจต้องมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแล

“การบูรณาการทำงานร่วมกันภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพนับเป็นประเด็นใหญ่ซึ่งได้เริ่มเดินหน้าไปแล้ว โดยการอบรมข้อมูลบูรณาการด้านหลักประกันสุขภาพครั้งนี้ จะเป็นการประสานการทำงานร่วมกันของ Call Center 4 องค์กร ทั้งกรมบัญชีกลาง 02-270-6400, ประกันสังคม 1506, สพฉ. 1669 และ สปสช. 1330 เมื่อประชาชนโทรสอบถามเข้ามาจะได้รับข้อมูลที่ตรงกัน ช่วยปิดช่องว่างการเข้าถึงการรักษา โดยเฉพาะยามเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ นับเป็นอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย” นพ.รัฐพล กล่าว