ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ROBERT H. FRANK จาก The New York Times เขียนบทความอธิบายแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการมีกองทุนสุขภาพรายเดียว โดยระบุว่า ต้นทุนสุทธิของการให้บริการรักษาพยาบาลภายใต้แนวทางกองทุนสุขภาพรายเดียวนั้นแท้จริงแล้วต่ำกว่าอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับระบบที่สหรัฐอเมริกาใช้อยู่ในปัจจุบัน

ความไม่แน่นอนในอนาคตของกฎหมาย Affordable Care Act ส่งผลให้สภารัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ หันมาพิจารณาปรับใช้ระบบกองทุนสุขภาพรายเดียว (single-payer health care system) หรือที่เรียกกันว่า “ระบบ Medicare ถ้วนหน้า” อันเป็นระบบจัดสรรงบประมาณการรักษาพยาบาลโดยหน่วยงานของรัฐเป็นผู้บริหารงบสาธารณสุขโดยที่บริการรักษาพยาบาลยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของภาคเอกชน

ต้นทุนสุทธิของการให้บริการรักษาพยาบาลภายใต้แนวทางกองทุนสุขภาพรายเดียวนั้นแท้จริงแล้วต่ำกว่าอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับระบบที่สหรัฐอเมริกาใช้อยู่ในปัจจุบัน ภาพ: คริสตอฟ วอร์เลต์

ทว่าการพิจารณายังคงไม่คืบหน้าเนื่องจากประเมินกันว่าต้นทุนอาจบานปลายเกินงบประมาณทั้งหมดของรัฐ เช่นเดียวกับในรัฐโคโลราโดและเวอร์มอนต์ซึ่งมีข่าวว่าข้อเสนอให้หันมาใช้ระบบกองทุนสุขภาพรายเดียวกำลังเผชิญกับกำแพงต้นทุนเช่นกัน

ประชาชนจำเป็นต้องเท่าทันว่ากระแสคัดค้านโดยยกต้นทุนมาอ้างนั้นเป็นเรื่องเหลวไหล ดังที่ประสบการณ์จากหลายประเทศชี้ว่าแท้จริงแล้วต้นทุนสุทธิของการให้บริการรักษาพยาบาลภายใต้แนวทางกองทุนสุขภาพรายเดียวนั้น แท้จริงแล้วต่ำกว่าอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับระบบที่สหรัฐอเมริกาใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ว่าหากเราสามารถหาแนวทางที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะช่วยให้ทุกคนได้รับผลประโยชน์กันถ้วนหน้า

ลองสมมติว่ารัฐบาลรัฐดึงความรับผิดชอบการดูแลถนนหนทางกลับคืนมาจากส่วนท้องถิ่น และในกระบวนการนั้นสามารถลดต้นทุนค่าซ่อมบำรุงได้ถึงร้อยละ 30 ถึงแม้ภายใต้ระบบนี้อาจส่งผลให้เราต้องจ่ายภาษีให้รัฐเพิ่มขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่งก็จะลดภาษีส่วนท้องถิ่นได้มากกว่าภาษีที่จ่ายเข้ารัฐ จึงไม่สมเหตุผลเลยหากจะคัดค้านระบบกองทุนสุขภาพรายเดียวโดยยกอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นมาอ้าง เพราะประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นนั้นย่อมทำให้เรามีกำลังซื้อที่สูงขึ้นกว่าเดิมด้วย

มีสาเหตุหลายประการที่เอื้อให้กองทุนสุขภาพรายเดียวมีต้นทุนสุทธิที่ต่ำกว่า ต้นทุนการบริหารจัดการเฉลี่ยอยู่ที่เพียงร้อยละ 2 ของรายจ่ายสุทธิภายในกองทุนสุขภาพรายเดียว (เช่นกองทุน Medicare) ซึ่งต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับผู้รับประกันเอกชนหลายแห่ง นอกจากนี้กองทุนสุขภาพรายเดียวยังไม่มีความจำเป็นต้องแข่งขันโฆษณาซึ่งทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 15 จากต้นทุนสุทธิ

จุดเด่นด้านการประหยัดรายจ่ายภายในกองทุนสุขภาพรายเดียวนั้น อยู่ที่สถานะการเป็นองค์กรรัฐขนาดใหญ่ซึ่งทำให้มีน้ำหนักในการเจรจาต่อรองกับผู้ให้บริการภาคเอกชน ดังที่มีสถิติเปรียบเทียบตัวเลขค่ารักษาพยาบาลกรณีผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจเมื่อปี 2555 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 73,000 ดอลลาร์ (กว่า 2.4 ล้านบาท) ในสหรัฐและต่ำกว่า 23,000 ดอลลาร์ (ราว 765,440) ในฝรั่งเศส

แต่แม้จะมีหลักฐานอยู่ตำตาก็ไม่วายที่จะมีผู้ออกมาแสดงความกังขาถึงความสำเร็จของระบบกองทุนสุขภาพรายเดียวในสหรัฐฯ โดยยกต้นทุนขึ้นมาอ้าง ดังเช่นบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ซึ่งทำนายว่างบประมาณจะเป็นอุปสรรคต่อระบบกองทุนรายเดียว และชี้ด้วยว่า รายจ่ายต่อหัวในสหรัฐฯ ภายใต้ระบบกองทุนรายเดียวที่มีอยู่นั้นก็สูงลิ่วอยู่แล้วเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ

การเปรียบเทียบในแง่นี้ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ระบบกองทุนสุขภาพรายเดียวในหลายประเทศนั้นครอบคลุมประชากรทั้งหมดซึ่งส่วนใหญ่มีความจำเป็นต้องพึ่งการรักษาพยาบาลต่ำ ต่างจากระบบกองทุนรายเดียวในสหรัฐฯ ซึ่งครอบคลุมประชากรจำเพาะที่ต้องคอยพึ่งพาบริการรักษาพยาบาล เช่น ผู้สูงอายุ (Medicare) ผู้ยากไร้และผู้ทุพลภาพ (Medicaid) และทหารผ่านศึก (Department of Veterans Affairs)

หลักฐานนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดว่ากองทุนสุขภาพรายเดียวให้บริการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับระบบผสมผสานซึ่งสหรัฐใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงไม่มีเหตุที่จะต้องคัดค้านกองทุนสุขภาพรายเดียวโดยอ้างแบบจับแพะชนแกะว่าจะทำให้ต้องเก็บภาษีมากขึ้น

นอกจากจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าแล้วกองทุนสุขภาพรายเดียวยังเป็นการถอดชนวนการเมืองออกจากกฎหมาย Affordable Care Act ผลสำรวจที่ออกมาอย่างต่อเนื่องล้วนแต่ชี้ว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าผู้ที่มีโรคมาก่อนควรได้รับสิทธิการรักษาในราคาที่จับต้องได้ แต่เป้าหมายนั้นจะไม่มีทางบรรลุได้เลยหากประชาชนที่มีสุขภาพดีไม่ช่วยกันลงขันสนับสนุนงบประมาณ อันเป็นข้อที่คณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีโอบามากัดฟันป่าวร้องอยู่เสมอว่าโครงสร้างการประกันสุขภาพจะพังทลายหากประชาชนไม่เข้ามามีส่วนร่วม

เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังเสียงคัดค้านนั้นก็ไม่ใช่เรื่องซับซ้อน ลองคิดดูสิว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐบาลกำหนดให้บริษัทขายประกันอัคคีภัยในราคาจับต้องได้แก่ประชาชนที่เพิ่งผ่านพ้นจากเหตุไฟไหม้บ้าน แน่นอนว่าจะไม่มีผู้รับประกันรายใดสามารถทำธุรกิจได้หากกรมธรรม์บังคับให้ต้องจ่ายค่าชดเชยหลายแสนดอลลาร์ ผู้รับประกันค่ารักษาพยาบาลเองก็ไม่สามารถทำธุรกิจได้เช่นเดียวกันหากผู้ถือกรมธรรม์มีตัวเลขเบิกค่ารักษาพยาบาลรวมกันเดือนละหลายหมื่นดอลลาร์

นี่จึงเป็นเห็นผลที่หากเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นพ้องในแนวทางใหม่ (ระบบกองทุนสุขภาพรายเดียวจากเงินภาษีโดยครอบคลุมประชาชนทุกคน) ก็จะส่งผลให้ประชาชนหลายล้านคนซึ่งมีโรคมาก่อนทำประกันสุขภาพไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพเมื่อความพยายามปรับแก้กฎหมายบรรลุผล

แน่นอนว่าการจ่ายภาษีนั้นก็เป็นการแสดงออกถึงความร่วมแรงร่วมใจในลักษณะหนึ่ง แม้จะมีเสียงประนามว่าการเก็บภาษีไม่ต่างอะไรจากการปล้น แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็เข้าใจได้ว่าระบบทั้งมวลคงถึงกาลล่มสลายหากการจ่ายภาษีอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจ

กฎหมาย Affordable Care Act เป็นระบบที่มีข้อบกพร่องด้านประสิทธิภาพ แต่ผ่านการรับรองเพียงเพราะผู้ออกกฎหมายเชื่อว่าแนวทางกองทุนสุขภาพรายเดียวที่มีประสิทธิภาพดีกว่าจะไม่สามารถฝ่าด่านการเมืองเมื่อปี 2552 ต่างจากปัจจุบันซึ่งเห็นได้ชัดว่าแนวทางกองทุนเดียวนั้นมีผู้สนับสนุนอย่างท่วมท้น

ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เห็นพ้องกับการขยายกองทุนสุขภาพรายเดียวที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น กองทุน Medicare และ Medicaid และส่งผลให้ข้อเสนอให้ปรับลดงบประมาณกองทุน Medicaid ที่ยื่นต่อสภาคองเกรสตกเป็นที่วิจารณ์ในวงกว้าง ดังนั้นเองอาจถึงเวลาแล้วที่แต่ละรัฐหรือสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศจะสามารถประหยัดรายจ่ายโดยที่ปรับปรุงคุณภาพการรักษาพยาบาลให้ดีขึ้นภายใต้ระบบกองทุนสุขภาพรายเดียว

เรียบเรียงจาก Why Single-Payer Health Care Saves Money โดย ROBERT H. FRANK จาก The New York Times