ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์กรสตรีถามความคืบหน้า คดีข้าราชการ สธ. ลวนลามพนักงานหญิง จี้ให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตั้งกรรมการสอบที่เป็นกลาง พร้อมเรียกร้องให้วางแนวทางรับมือปัญหาคุกคามทางเพศในที่ทำงานอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 เวลา 11.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วย แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง และเครือข่ายชุมชนที่ป้องกันปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผ่านทาง นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. เพื่อเรียกร้องให้ สธ.มีมาตรการแก้ปัญหาการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน สร้างกลไกอย่างเป็นรูปธรรม โดยกรณีข้าราชการในสังกัด สธ.ลวนลามพนักงานหญิง ต้องสาวไปให้ถึงผู้ที่ล็อบบี้ ว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง และมีองค์กรที่เป็นกลางร่วมตรวจสอบเพื่อความเป็นธรรม ป้องกันข้อครหา

นายจะเด็จ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ข้าราชการ สธ.ลวนลามคุกคามทางเพศพนักงานหญิง และผู้ที่กระทำเป็นถึงหัวหน้าหน่วยงาน จึงเป็นเรื่องร้ายแรง มีภาพแสดงออกถึงการคุกคามทางเพศชัดเจนกระทำมาตั้งแต่ปี 57 อีกทั้งไม่ใช่รายเดียวที่ถูกกระทำ และข้าราชการ สธ.ส่วนใหญ่เป็นพนักงานหญิง เหตุการณ์นี้จึงเป็นการทำลายขวัญกำลังใจในการทำงาน และเพื่อให้เกิดกำลังใจแก่ข้าราชการหญิงให้ได้ทำงานต่ออย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นทางมูลนิธิฯ และองค์กรด้านผู้หญิง อยากทราบความคืบหน้าว่าได้ดำเนินการไปถึงขั้นไหน และขอสนับสนุนท่าทีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ประกาศว่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และไม่ให้มีการคุกคามและวิ่งเต้นเพื่อให้ผู้กระทำการคุกคามทางเพศพ้นผิดโดยมีข้อเสนอต่อกลไกการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศ ดังนี้

1.คณะกรรมการสอบสวนวินัย ทำความจริงให้ปรากฏ ต้องมีความเป็นกลาง โปร่งใส และให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกระทำ โดยคณะกรรมการสอบวินัยต้องไม่เป็นหน่วยงานที่ผู้กระทำการคุกคามทางเพศอยู่ในสังกัด และควรมีบุคคลภายนอก องค์กรหรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย รวมทั้งให้มีการลงโทษวินัยขั้นร้ายแรงกับการกระทำผิดของหัวหน้าหน่วยงาน ที่คุกคามทางเพศพนักงานผู้หญิง โดยให้ออกจากราชการไว้ก่อนระหว่างการสอบสวน

2.กระทรวงสาธารณสุขต้องมีมาตรการ ระบบการติดตามการทำงาน การอบรม และพัฒนาบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้บุคลากรมีทัศนคติที่ดี เคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น รวมทั้งขอสนับสนุนให้กระทรวงฯ มีนโยบายในการแก้ไขและป้องกันการคุกคามทางเพศ หากเกิดปัญหาการคุกคามทางเพศขึ้นไม่ว่ากรณีใดๆ ให้มีการลงโทษที่เด็ดขาด

3. ควรมีการสร้างพื้นที่ ช่องทาง หรือศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศที่เป็นกลาง ปลอดภัยและให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศให้สามารถร้องเรียนได้

 

และ 4.ขอให้มีกระบวนการเยียวยาฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกคุกคามทางเพศ ตลอดจนมีการป้องกันแก้ไขการถูกแทรกแซงหรือคุกคาม