ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เผย อบต./เทศบาลสามารถใช้งบกองทุนสุขภาพตำบลในภาวะภัยพิบัติได้ ทั้งการป้องกันโรคระบาด และฟื้นฟูอนามัยสิ่งแวดล้อมหลังน้ำท่วม ที่ผ่านมามีหลายพื้นที่มีโครงการป้องกันโรคฉี่หนู การฟื้นฟูสุขภาพผู้ประสบภัยหลังน้ำท่วม เป็นต้น

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขณะนี้ รวมถึงพื้นที่ประสบเหตุอุทกภัยก่อนหน้านี้ที่ขณะนี้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและการป้องกันโรคระบาด ซึ่งกรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่นั้น อบต.และเทศบาลที่เข้าร่วมกับ สปสช.ในการก่อตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือกองทุนสุขภาพตำบล 7,755 แห่ง สามารถใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขได้ความจำเป็น เหมาะสม และทันต่อสถานการณ์

“ที่ผ่านมาทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์อุทกภัยหรือภัยพิบัติต่างๆ อบต.และเทศบาลที่ประสบเหตุก็ได้ใช้งบประมาณจากกองทุนนี้ในการดำเนินการ เช่น โครงการส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟูและช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์อุทกภัยตำบลโคกเคียน กองทุนสุขภาพตำบล อบต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส ที่ดำเนินช่วงต้นปี 2560 งบประมาณ 42,000 บาท สำหรับป้องกันโรคการเกิดโรคฉี่หนูและฟื้นฟูสมรรถภาพประชาชนในระหว่างและหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลื่นลมแรง หรือโครงการดูแลฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมหลังน้ำลดตามโครงการสนับสนุนกรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ของกองทุนสุขภาพตำบล อบต.โละจูด อ.แว้ง จังหวัดนราธิวาส 7,000 บาท ซึ่งผลการดำเนินงานก็ประสบผลสำเร็จด้วยดี”

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี 2557 เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้ อปท.ดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฯ ข้อ 7 (5) ที่ระบุว่า เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่สามารถใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนหรือส่งเสริมเป็นค่าใช้จ่ายตามแผนงาน หรือโครงการ หรือกิจกรรม ที่คณะกรรมการกองทุนอนุมัติกรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ได้

ทั้งนี้ สปสช.ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ภายใต้ความร่วมมือของสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น หรือกองทุนสุขภาพตำบลขึ้น ตั้งแต่ปี 2549 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 47 ที่มุ่งเน้นให้ อปท.มีบทบาทสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการดูแลผู้ด้อยโอกาสในชุมชนเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ทั่วถึงมากขึ้น