ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

www.weforum.org รายงานถึง ‘อิคิกาอิ’ ปรัชญาญี่ปุ่นว่า อาจจะเป็นหนทางช่วยให้อายุยืนยาวและมีชีวิตที่ดีกว่าได้จริงหรือไม่

อะไรที่ทำให้คุณอยากตื่นขึ้นมาในทุกเช้า...หากการใคร่ครวญคำถามข้อนี้ช่างวุ่นวายจนคุณอยากมุดกลับเข้าที่นอนก็ไม่แน่ว่าปรัชญาอิคิกาอิ (ikigai) ของญี่ปุ่นอาจช่วยคุณได้

ปรัชญาอิคิกาอิกำลังได้รับความนิยมในฐานะหนทางสู่การมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณค่า คำว่าอิคิกาอินั้นประกอบด้วยคำว่า อิคิรุ (ikiru) ซึ่งหมายถึง “มีชีวิต” และ กาอิ (gai) ซึ่งหมายถึง “ตระหนักว่าคาดหวังในสิ่งใด” ซึ่งเมื่อรวมทั้ง 2 คำเข้าด้วยกันก็จะกินความถึง “เหตุผลในการมีชีวิตอยู่” หรือปรัชญาแห่งการมีเป้าหมายชีวิตนั่นเอง

รศ.อะคิฮิโระ ฮาเซกาวะ จากมหาวิทยาลัยโตเกียวเออิวะให้ความเห็นถึงที่มาทางประวัติศาสตร์ของปรัชญา อิคิกาอิ ว่า กาอิ มีรากจากคำว่า คาอิ (kai) ซึ่งหมายถึงเปลือกหอยอันเป็นของสูงค่าระหว่างยุคเฮอัน (ปี 1337-1728) ทำให้มีความหมายรวมไปถึง “คุณค่าในการมีชีวิตอยู่”

การที่จะค้นหาเหตุผลหรือเป้าหมายในการมีชีวิตอยู่นั้น สามารถเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามกับตนเอง 4 ข้อว่า

1.เราชอบอะไร

2.เราทำอะไรได้ดี

3.เราจะให้อะไรกับสังคมได้บ้าง

4.เราจะเลี้ยงชีพด้วยสิ่งใด

การหาคำตอบและจุดสมดุลระหว่างคำถามทั้ง 4 ข้ออาจเป็นหนทางไปสู่อิคิกาอิสำหรับผู้ที่ปรารถนาจะทำความเข้าใจปรัชญานี้ให้ได้โดยเร็ว ทว่าสำหรับคนญี่ปุ่นแล้วอิคิกาอิเป็นกระบวนการที่เนิบช้าและไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับการงานหรือรายได้ ดังที่ผลสำรวจจากชายหญิงชาวญี่ปุ่นราว 2,000 คนเมื่อปี 2553 ชี้ว่ามีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 31 เท่านั้นที่ตอบว่างานเป็นเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ของตน

ศ.กอร์ดอน แมทธิวส์ นักโบราณคดีเจ้าของหนังสือ “What Makes Life Worth Living? : How Japanese and Americans Make Sense of Their Worlds” ชี้ว่า ปรัชญาอิคิกาอิสามารถจำแนกตามหลักคิดแบบญี่ปุ่นเป็น 2 ทางได้แก่ อิไตกัน (ittaikan) และ จิโกะ จิทสึเก็น (jiko jitsugen)

โดยอิไตกันหมายถึง “ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือการทุ่มเทเพื่อกลุ่มหรือบทบาทของตน” ขณะที่จิโกะ จิทสึเก็นโน้มเอียงมาทางความตระหนักถึงตนเอง

ศ.แมทธิวส์ ให้ความเห็นว่า อิคิกาอิเป็นหนทางนำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น “เพราะคุณจะต้องอยู่เพื่ออะไรบางอย่าง” แต่ก็เตือนด้วยว่าไม่ควรมองอิคิกาอิในแง่วิธีสำหรับเลือกหนทางชีวิต “อิคิกาอิไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้นครับ ไม่ต่างอะไรเลยกับหลักการเชิงปฏิบัติ”

อิคิกาอิจะช่วยให้อายุยืนยาวและมีชีวิตที่ดีกว่าได้จริงหรือ

เกาะโอกินาวาทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นนั้นเป็นที่รู้จักกันดีว่ามีประชากรอายุเกินร้อยปีจำนวนมาก และชาวเกาะรับเอาปรัชญาอิคิกาอิมาปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย โดยแดน บูเอตเนอร์ เผยว่า ปรัชญาอิคิกาอิแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของชาวเกาะ ซึ่งเมื่อรวมกับอาหารท้องถิ่นและการช่วยเหลือเกื้อกูลในกลุ่มเพื่อนหรือ “โมไอ” ก็เห็นได้ชัดว่าอิคิกาอิช่วยให้ชาวโอกินาวามีอายุยืนยาวเนื่องจากมีเป้าหมายชีวิต โดยยกตัวอย่างชาวเกาะหลากหลายอาชีพซึ่งล้วนแต่มีอายุยืนเกินร้อยปีกันทั้งนั้น

อย่างไรก็ดีบูเอตเนอร์ย้ำว่า การรู้จักอิคิกาอิของตนเท่านั้นยังไม่เพียงพอ หากต้องนำเป้าหมายนั้นมาปฏิบัติด้วย โดยต้องไม่ลืมว่าอิคิการอิสามารถเปลี่ยนไปตามวัย เช่นผู้ที่มองว่าการงานเป็นเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ อาจผ่อนคลายจากภาระงานเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณและเริ่มต้นแสวงหาอิคิกาอิอันใหม่ต่อไป

แปลจาก Is this Japanese concept the secret to a long, happy, meaningful life : www.weforum.org

สัญลักษณ์ อิคิกาอิ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง