ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“.....ไม่นั่งหรอก ข้างบนลมมันเย็น...” วลียอดฮิตของภาพยนตร์โฆษณายารักษาริสีดวงทวารในอดีต สำหรับคนที่เคยเป็นริดสีดวงทวารจะรู้ดีกว่าถึงจะไม่เป็นอันตราย แต่ความเจ็บปวดนั้นสร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยไม่ใช่น้อย

นางพิมพ์พรรณ ล่อใจ

นางพิมพ์พรรณ ล่อใจ พยาบาลวิชาชีพ รพ.มะเร็งสุราษฎร์ธานี หนึ่งในทีมงานที่คิดค้นนวัตกรรมดูด รัด กำจัดดวง (ริดสีดวง) ที่สามารถคว้ารางวัลสุดยอดนวัตกรรมในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขในปี 2559 เล่าว่า มีคนถามว่าทำไมอาการของริดสีดวงถึงได้สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างมากนั้น คำตอบคือ เนื่องมาจากบริเวณทวารเป็นเนื้อที่อ่อนและมีปลายประสาทต่างๆ รวมอยู่มาก ริดสีดวงมีทั้งแบบริดสีดวงภายนอก และริดสีดวงภายใน อาการที่แสดงหากเป็นระยะเริ่มแรกจะรักษาหายได้ด้วยการรับประทานและฉีดยา แต่หากเป็นถึงขั้นรุนแรงจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

อาการของโรคริดสีดวงภายนอก คือ มีติ่งเนื้อออกมาจากปากทวารหนักเมื่อมีอาการท้องผูกหรือท้องเสีย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด บวม เจ็บ และระคายเคือง หากมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นในหลอดเลือดที่โป่งพองจะก่อให้เกิดอาการปวด บวม เจ็บมากขึ้น ซึ่งปกติแล้วจะหายเจ็บได้ภายใน 2-3 วัน หากมีอาการบวมอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เมื่อหายดีแล้วอาจจะยังมีผิวหนังเป็นติ่งเหลืออยู่ และหากหัวริดสีดวงมีขนาดใหญ่ก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือคันบริเวณรอบปากทวารหนักได้ด้วย

สำหรับอาการของโรคริดสีดวงภายใน คือ ส่วนมากจะมีอาการเลือดออกทางทวารหนัก โดยไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด ซึ่งจะเกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังจากถ่ายอุจจาระเสร็จ เลือดที่ออกมานั้นจะมีลักษณะเป็นเลือดสีแดงสด ออกปนมากับอุจจาระ หรือมีเลือดไหลหยดลงในโถส้วม และอาจสังเกตว่ามีเลือดเปื้อนบนกระดาษชำระ (เลือดจะออกมาในลักษณะอาบก้อนอุจจาระ ส่วนตัวก้อนอุจจาระยังเป็นสีของมันตามปกติ ไม่มีมูกปน และเลือดมักจะหยุดไหลได้เอง) ซึ่งอาการเหล่านี้จะมีลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ ถ้ามีเลือดออกมากหรือเป็นเรื้อรัง อาจทำให้เกิดอาการซีดตามมาได้

ในรายที่เป็นมาก หลอดเลือดจะบวมมาก ทำให้หัวริดสีดวงโผล่ออกมานอกปากทวารหนัก หรือเห็นเป็นก้อนเนื้อนิ่ม ๆ ปลิ้นโผล่ออกมา ซึ่งในภาวะเช่นนี้จะก่อให้เกิดอาการปวดหรือเจ็บที่ทวารหนักได้ และอาจจะทำให้เกิดอาการคันและอาการกลั้นอุจจาระไม่อยู่ได้

นางพิมพ์พรรณ กล่าวว่า คนไข้ที่เข้ามาส่งกล้องที่นี่ประมาณปีละ 500 ราย ส่วนใหญ่ 80% พบว่าเป็นริดสีดวงทวารในระยะต้น ซึ่งถ้าแพทย์เห็นจะทำการรัดให้ นอกจากนี้ตนจะบอกว่า ริดสีดวงนั้นไม่ได้มีแค่หัวเดียวเท่านั้น บางคนอาจมีหลายหัวก็ได้ ไม่จำเป็นว่า 1 คน จะต้องมี 1 หัวเสมอไป ถ้ามีเยอะก็รักษาต่อเนื่องไป

นางพิมพรรณ ได้อธิบายถึงวิธีการรักษาริดสีดวงแบบเก่าว่า หลังจากที่ตรวจหรือส่องกล้องแล้วเจอว่าผู้ป่วยเป็นริดสีดวง จะทำการรักษาด้วยการกินยาและฉีดยาเพื่อให้ริดสีดวงฝ่อ แต่หากเป็นมากถึงต้องผ่าตัด กรรมวิธีคือการใช้เครื่องมือที่เรียกว่าพร็อกโตสโคป (proctoscope) ส่องกล้องเข้าไปทางรูทวาร เมื่อเห็นหัวริดสีดวงแล้วแพทย์จะใช้เครื่องมือหนีบหัวริดสีดวงให้มีความยาวพอประมาณจากนั้นถึงจะใช้ยางรัด คนไข้จะรู้สึกเจ็บมาก และเสียเลือด ส่วนทางด้านการปฏิบัติงานจะต้องใช้แพทย์และพยาบาลจำนวน 3 คน คือ มีคนเตรียมเครื่องมือ 1 คน คนจับกล้อง1 คน หมอ อีก 1 คน รวมเป็น 3 คน ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการระบม เจ็บ และกลัว ทางทีมงานจึงคิดกันว่าจะมีวิธีใดบ้างที่จะลดความเจ็บปวดผู้ป่วยลงได้ ใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 2-3 นาที

ในปี 2557 มีการพัฒนาเครื่องมือในการรักษาริดสีดวงทวาร โดยใช้ชื่อว่า ดูด รัด กำจัด (ริดสี) ดวง โดยใช้เครื่องมือที่เป็นระบบลมอัตโนมัติ ด้วยการปรับแรงลมให้อยู่ในระดับพอดี เพื่อดูดให้หัวริดสีดวงเข้ามา จากนั้นจะมียางรัดหัวริดสีดวง เพื่อให้ดวงริดสีดวงขาดเลือดไปเลี้ยงหัวก็จะฝ่อไปเอง คนไข้จะเหมือนมีลมผ่าน และรัด แทนที่เราจะใช้เครื่องมือจับดึงและรัด คนไข้จะเจ็บและมีเลือดออก พอเราใช้ลมเข้ามาช่วยรัดคนไข้จะรู้สึกแค่มีลมพัดผ่าน

ข้อดีของวิธีนี้ คือ จะช่วยลดอาการปวดในคนไข้, หัวริดสีดวงจะมีเลือดออกน้อย คนไข้จะรู้สึกว่าทำเร็ว ไม่กลัว เพราะโดยปกติแพทย์จะใช้เครื่องมือโดยมีพยาบาลช่วยจับเครื่องมือ 1 คน แพทย์จะต้องใช้คีมจับเพื่อดึงอีกครั้งหนึ่ง ถ้าใช้เครื่องมือนี้หมอสามารถทำคนเดียวได้ จะเป็นการลดจำนวนบุคลากรไปในตัวด้วย ส่วนเรื่องของเวลาวิธีนี้จะใช้เวลาเพียง 1 นาที หรือบางเคสอาจใช้เวลาไม่ถึงนาทีเลย เรียกว่า พอเห็นหัวริดสีดวงปุ๊ปสามารถรัดได้ทันทีเลย และลดอาการบวมหลังการรักษาจาก 3-4 วัน เหลือเพียง 1-2 วัน รักษาเสร็จได้ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลย

นางพิมพรรณ กล่าวว่า นวัตกรรมชิ้นนี้ จะมีวัสดุสิ้นเปลืองคือ จากเดิมที่ใช้สายซักชั่น (suction) เปลี่ยนมาเป็น สายยางที่ให้อาหารผู้ป่วย ที่มีราคาเพียง 3-5 บาท ซึ่งมีราคาถูกกกว่าสายส่องที่ใช้กับเครื่องมือแบบเก่าถึง 2 บาท ส่วนตัวเครื่องมือใช้วิธีความสะอาดเหมือนเครื่องมือแพทย์ทั่วไป

“ผลที่ได้ถือว่ามีความคุ้มค่ามาก เพราะผู้ป่วยเลือดออกน้อย เจ็บป่วยน้อยลงหลังจากการทำการรักษา ซึ่งวิธีเดิมเราจะใช้คีมหนีบหัวริดสีดวง เป็นที่รู้กันว่าบริเวณตรงก้นเป็นจุดบอบบาง ขนาดเราถ่ายอุจจาระแข็งเรายังเจ็บ แล้วหัวริดสีดวงที่มีการอักเสบแล้ว บางคนถึงกับไม่สามารถนั่งได้เลย แล้วเราเอาเครื่องมือไปหนีบหัวที่อักเสบแล้วดึงออกมาเพื่อรัด จะทำให้ผู้ป่วยเจ็บป่วยมาก”

นอกจากนี้ นางพิมพ์พรรณ ยังบอกว่า จากงานวิจัยพบว่า อาการของริดสีดวงไม่ได้มีส่วนการเกิดมะเร็ง เพราะริดสีดวงเกิดจากที่เส้นเลือดมันขอด แต่ถ้าการเกิดแผลที่ก้นเรื้อรังนานๆ อาจทำให้เกิดเป็นมะเร็งได้ เพราะมีการเสียดสี และบริเวณดังกล่าวเป็นที่ทำความสะอาดได้ยาก และอับ อาจเปลี่ยนแปลงให้เกิดเป็นมะเร็งได้ แต่ถ้าเป็นริดสีดวงจริงๆ โอกาสที่จะทำให้เกิดเป็นมะเร็งๆ จริงคงเป็นได้ได้ยาก แต่เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความรำคาญมากกว่า

ส่วนวิธีการดีท็อก คือ การสวนล้างลำไส้ ซึ่งการสวนล้างมีหลายรูปแบบ การสวนล้างจะทำให้อุจจาระออกมาได้ แต่ถามว่าเราจะสวนล้างได้ทุกวันหรือเปล่านั่นคือปัญหา ดังนั้นเราจึงควรหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่ควรเน้นเรื่องผักและผลไม้มากกว่า ดื่มน้ำให้ได้เกินวันละ 2 ลิตรและต้องมีการขับถ่ายให้เป็นเวลา จะเป็นวิธีป้องกันการเกิดริดสีดวงได้ดีที่สุด

เรื่องที่เกี่ยวข้อง