ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขลงนามความร่วมมือกับ 5 มหาวิทยาลัย ผลิตนักรังสีการแพทย์ เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาโรคด้วยมาตรฐานวิชาการและบริการในระดับสากล ตอบสนองผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนของโรคมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข มีนักรังสีการแพทย์ 1,771 คน ขาดอีก 1,000 คน ในกรอบขั้นต่ำ 2,700 คน โดยมีโรงพยาบาลไม่มีทั้งนักรังสีการแพทย์และเจ้าพนักงานรังสีการแพทย์ 193 แห่ง เป็นปัญหาต่อการให้บริการในระบบสุขภาพ

วันนี้ (1 กันยายน 2560) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนสายวิชาชีพรังสีเทคนิคระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นพ.โสภณ ให้สัมภาษณ์ว่า วิชาชีพรังสีการแพทย์ เป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะที่ต้องใช้ความรู้วิชาการ ทักษะวิชาชีพ เพื่อบริการประชาชนในโรงพยาบาล ในการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องมือด้านรังสีวิทยา เช่น การถ่ายภาพเอกซ์เรย์ การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ การใช้เครื่องฉายรังสีสำหรับการรักษามะเร็ง เป็นต้น ซึ่งบุคลากรสาขานักรังสีการแพทย์เป็นที่ต้องการมากในสถานบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะการวินิจฉัยโรคที่มากขึ้น ทำให้ความต้องการนักรังสีการแพทย์ รวมทั้งการควบคุมการใช้งานเครื่องมือ การตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีเพิ่มมากขึ้น

ตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะของสำนักสถานพยาบาล ได้กำหนดให้ผู้ใช้เครื่องมือทางรังสีวิทยาต้องเป็นผู้ที่มีวิชาชีพที่เกี่ยวข้องทางรังสี และการควบคุมความปลอดภัยของเครื่องมือทางรังสี ผู้ที่จะควบคุมต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ควบคุมความปลอดภัยรังสี เป็นไปตามพระราชบัญญัตินิวเคลียร์เพื่อสันติ มาตรฐานสถานบริการ ด้านมาตรฐานการปฏิบัติงานรังสีเทคนิคต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากร

ข้อมูลกองบุคลากร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2559 พบว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข มีนักรังสีการแพทย์ทั้งสิ้น 1,771 คน ยังขาดอีก 1,000 คน กรอบขั้นต่ำ 2,700 คน โดยมีโรงพยาบาลไม่มีทั้งนักรังสีการแพทย์และเจ้าพนักงานรังสีการแพทย์ จำนวน 193 แห่ง เป็นปัญหาต่อการให้บริการในระบบสุขภาพ

ในส่วนการผลิตนักศึกษาสาขานักรังสีเทคนิค ปัจจุบันมีสถาบันที่ผลิตประมาณ 10 สถาบัน กำลังการผลิต 200 คนต่อปี โดยนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา ส่วนใหญ่เลือกทำงานในสถานบริการเอกชนมากกว่าทำงานในสถานบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในเบื้องต้นได้มีการแก้ไขปัญหาโดยได้มีการจัดสรรตำแหน่งข้าราชการ จำนวน 20 ตำแหน่ง และพนักงานราชการ 155 ตำแหน่ง ขณะนี้กำลังรอบรรจุในส่วนของพนักงานราชการ สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนสายวิชาชีพรังสีเทคนิคในครั้งนี้ จะสามารถผลิตบุคลากรสาขานักรังสีเทคนิคเข้ามาเติมเต็มในระบบสุขภาพ ปีละ 50 คน เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาโรคด้วยมาตรฐานวิชาการและบริการในระดับสากล ตอบสนองผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนของโรคมากขึ้น เช่น ศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านหัวใจด้านโรคเด็ก ด้านโรคมะเร็ง เป็นต้น