ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จับมือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ พัฒนาคู่มือการทดสอบเครื่องมือวัดทางการแพทย์ 3 ฉบับ ตู้อบเด็กทารกแรกเกิด เครื่องวัดอุณหภูมิทางการแพทย์แบบไฟฟ้าสำหรับการวัดค่าต่อเนื่อง เครื่องวัดอุณหภูมิทางการแพทย์แบบไฟฟ้าซึ่งแสดงค่าอุณหภูมิสูงสุด เกิดมาตรฐานที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพเครื่องมือวัดทางการแพทย์ ในสถานพยาบาล สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในความถูกต้องของเครื่องมือวัดทางการแพทย์ สู่มาตรฐานสากล

นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการการพัฒนามาตรวิทยาด้านเครื่องมือวัดทางการแพทย์ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาความรู้ความสามารถด้านการทดสอบ สอบเทียบมาตรฐานเครื่องมือวัดทางการแพทย์ และการพัฒนาระบบมาตรวิทยา ด้านเครื่องมือวัดทางการแพทย์ร่วมกันของทั้ง 3 ฝ่าย

โดยมีข้อตกลงร่วมกันในการจัดทำคู่มือมาตรฐาน วิธีการทดสอบ และการสอบเทียบเครื่องมือวัดทางการแพทย์ พัฒนาระบบการทดสอบรับรองเฉพาะแบบให้เกิดขึ้นเพื่อลดจำนวนเครื่องมือวัดทางการแพทย์คุณภาพต่ำที่เข้ามาจำหน่ายในประเทศ พัฒนาการสอบย้อนกลับสู่มาตรฐานแห่งชาติไปยังเครื่องมือวัดทางการแพทย์ประเภทอื่นๆ และร่วมมือกันพัฒนาห้องปฏิบัติการและขีดความสามารถบุคลากรของภาครัฐและเอกชน

นายสุรพันธ์ ชัยล้อรัตน์ ผู้อำนวยการกองวิศวกรรมการแพทย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทั้ง 3 หน่วยงาน ได้ร่วมกันพัฒนาคู่มือการทดสอบเครื่องมือวัดทางการแพทย์จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่

1) ตู้อบเด็กทารกแรกเกิด

2) เครื่องวัดอุณหภูมิทางการแพทย์แบบไฟฟ้าสำหรับการวัดค่าต่อเนื่อง

และ 3) เครื่องวัดอุณหภูมิทางการแพทย์แบบไฟฟ้าซึ่งแสดงค่าอุณหภูมิสูงสุด

โดยได้พัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว นำมาใช้เป็นวิธีการเดียวกันในการทดสอบเครื่องมือวัดทางการแพทย์ในประเทศ เครื่องมือวัดทางการแพทย์เป็นสิ่งจำเป็นสําหรับการรักษาผู้ป่วยของสถานพยาบาล ดังนั้นการทดสอบเครื่องมือวัดทางการแพทย์ชนิดต่างๆ จึงต้องมีความแม่นยำ เที่ยงตรง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในผลการตรวจวัดที่ถูกต้อง ซึ่งวิธีการทดสอบที่พัฒนาขึ้นของ 3 หน่วยงาน จะถูกนำไปใช้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้กับระบบการทดสอบและสอบเทียบของประเทศ ให้มีมาตรฐานทัดเทียมนานาชาติต่อไป

ทั้งนี้ โรงพยาบาล ผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ หน่วยงานภาคเอกชน และผู้ที่สนใจ สามารถศึกษารายละเอียดของคู่มือการทดสอบเครื่องมือวัดทางการแพทย์ทั้ง 3 ฉบับ ได้ทางเว็บไซต์ของกองวิศวกรรมการแพทย์ (ดู ที่นี่) หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่กองวิศวกรรมการแพทย์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-149-5680 ในวันและเวลาราชการ