ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอสมศรี” ชง ขอใช้งบ 240 ล้าน กองทุนสุขภาพท้องถิ่น กทม. ปี 60 อุดหนุนค่ารักษาผู้ป่วยใน แก้ปัญหา RW ลดลง เพื่อดึง รพ.อยู่ดูแลคนไข้บัตรทองต่อ ด้าน “หมอปิยะสกล” ระบุ ต้องพิจารณารอบด้าน มอบ “อนุกรรมการบริหารจัดการกองทุน” ดำเนินการต่อ เชื่อภายใน 1 เดือน มีทางออกแก้ปัญหาได้

ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กทม.ได้รายงานการดำเนินการกรณีโรงพยาบาลมเหสักข์ถอนตัวออกจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และโรงพยาบาลเอกชนอีก 3 แห่งยกเลิกการเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อคลินิกในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งได้มีการจัดหน่วยบริการเพื่อรองรับดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว

พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์

พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (อปสข.เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร) กล่าวว่า การรายงานการแก้ไขปัญหานี้โดย สปสช.เขต 13 กทม.ยังเป็นเรื่องปลายเหตุ และเห็นใจ รพ.ภาครัฐสังกัดต่างๆ ที่ต้องเข้ามาช่วยรองรับดูแลผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันก็หนักหนาอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดูเขต กทม.มาหลายปีไม่เคยมีปัญหา แต่กลับมีปัญหาในปีนี้ จึงได้ให้รีบค้นหาสาเหตุที่หน่วยบริการออกจากระบบบัตรทอง ซึ่งสรุปได้ 3 เรื่อง คือ

1.จำนวนคนไข้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ปัจจุบัน กทม.มีประชากรเกือบ 4 ล้านคน โดยแต่ละปีมีอัตราการรับบริการผู้ป่วยในประมาณ 2.2-2.3 แสนคน แต่ในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 2.4 แสนคน และในปี 2560 เพิ่มเป็น 2.6 แสนคน ส่งผลให้ สปสช.เขต 13 กทม.ต้องพูดคุยกับหน่วยบริการในเดือนเมษายน เพื่อขอปรับอัตราการจ่ายค่าน้ำหนักสัมพันธ์ (RW) จาก 8,500 บาท ลดลงมาอยู่ที่ 7,000 บาท ซึ่งหน่วยบริการหลังดำเนินการไป 2 เดือนก็ไม่ไหว

2.การปรับเบิกจ่ายการดูแลเด็กแรกคลอด จากเดิม สปสช.ให้เบิกจ่ายที่ส่วนกลาง แต่ปี 2560 นี้ ให้เบิกค่าใช้จ่ายที่เขตแทน ซึ่งเด็กที่มีปัญหาหลังคลอดต้องดูแลโดยแพทย์เฉพาะทาง ส่วนใหญ่จึงต้องเข้ามารับบริการยัง รพ.ในเขต กทม.

3.คนไข้โรคหัวใจเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่ใส่สายสวนหัวใจและผ่าตัดแบบเปิด ซึ่ง รพ.ในเขต กทม.ดูแลคนไข้ไม่ทัน จึงต้องส่งไปยัง รพ.นอกเขต ทำให้ต้องจ่ายค่า RW เพิ่มขึ้น เป็น 9,500 บาท

พญ.สมศรี กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเราเห็นใจคนไข้ที่ต้องเปลี่ยนไปรับบริการยังหน่วยบริการอื่น ส่วน รพ.ที่รับดูแลต่อก็จะยังรับภาระหนักในการดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ดังนั้นที่ผ่านมาจึงได้มีการพูดคุยกับหน่วยบริการที่ยกเลิกการเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อคนไข้เพื่อขอให้อยู่ดูแลคนไข้ในระบบต่อไป โดย สปสช.จะมีการปรับเพิ่มค่า RW ให้ แม้ว่าจะไม่ถึงจำนวน 8,500 บาท แต่ก็เป็นอัตราที่หน่วยบริการรับได้ ซึ่งมองว่าขณะนี้มีงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่หรือท้องถิ่นของ กทม. จำนวน 240 ล้านบาท สามารถนำมาอุดหนุนได้ เนื่องจากในปี 2560 ที่จะสิ้นสุดเดือนกันยายนนี้ แม้ว่าผู้ว่า กทม.จะมีหนังสือให้มีการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ฯ แล้ว แต่คงยังไม่สามารถดำเนินการได้ทัน จึงนำเสนอต่อบอร์ด สปสช.และขอให้รีบพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อนที่จะสิ้นสุดปีงบประมาณในเดือนนี้ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบ รพ.ที่อาจจะขอออกจากระบบเพิ่มเติม

ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานบอร์ด สปสช. กล่าวว่า บอร์ด สปสช.ได้มีมติมอบให้ อนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน ซึ่งมี นางชุมศรี พจนปรีชา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง บอร์ด สปสช. เป็นประธาน รับไปพิจารณา โดยเรื่องนี้มองว่าจะปรับเพิ่มเงินให้เฉพาะ รพ.ที่ขอออกจากระบบไม่ได้ เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบ รพ.อื่นๆ ขอลาออกจากระบบตามมา จึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าภายใน 1 เดือนนี้ สปสช.จะสามารถดำเนินการสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบไปมากกว่านี้ได้

ขณะที่ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หลังเดือนกันยายน เงินที่เหลือจากการดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งหมดจะต้องนำเข้าสู่เงินสะสมกองกลางเพื่อนำไปบริหารในส่วนอื่น เช่น หน่วยบริการที่มีผลงานเกินเป้าหมาย หรือแม้แต่ในกรณีของพื้นที่ กทม.ขณะนี้ แต่ต้องผ่านการพิจารณาโดยอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน อย่างไรก็ตามข้อเสนอนี้เป็นเพียงการดำเนินการเฉพาะในปี 2560 ซึ่งหากสาเหตุยังไม่ได้รับการแก้ไข ในปีต่อไปปัญหานี้ก็จะยังคงอยู่ ดังนั้นจึงต้องมีการวิเคราะห์ให้ชัดเจนเพื่อให้หน่วยบริการคงอยู่ในระบบ ซึ่งคิดว่าเรื่องนี้ยังพอมีเวลาในไตรมาส 1 เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาได้