ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลก มอบรางวัล Public Health Achievements แก่ประเทศไทย จากผลสำเร็จการกำจัดโรคเท้าช้างหมดจากประเทศ ในการประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมัยที่ 70 ณ สาธารณรัฐมัลดีฟส์ พร้อมชูโครงการสาธารณสุขร่วมใจลดโลกร้อนผ่านโรงพยาบาล “กรีนและคลีน”

นพ.ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมัยที่ 70 (Seventieth Session of the WHO Regional Committee for South-East Asia : RC70) จัดระหว่างวันที่ 6-10 กันยายน 2560 ณ กรุงมาเล สาธารณรัฐมัลดีฟส์ ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 11 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน เกาหลีเหนือ อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ สหภาพพม่า เนปาล ศรีลังกา ไทย และติมอร์เลสเต เพื่อร่วมกันหารือและผลักดันนโยบายความร่วมมือสาธารณสุขในระดับภูมิภาค การบริหารจัดการด้านงบประมาณ และแผนงานของประเทศสมาชิกในภูมิภาคร่วมกัน รวมทั้งกำหนดแนวทางและกลไกในการดำเนินงานของภูมิภาคให้สอดคล้องกับข้อมติสมัชชาอนามัยโลกที่ผ่านมา

นพ.ธวัช กล่าวต่อว่า ในระหว่างการประชุมดังกล่าว จะเข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Roundtable) ภายใต้หัวข้อ “การสร้างระบบสุขภาพที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Building Health Systems Resilience to Climate Change)” โดยเน้นย้ำประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยได้ริเริ่มโครงการ GREEN & CLEAN Hospital หรือโครงการสาธารณสุขรวมใจรณรงค์ลดโลกร้อนด้วยการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 และการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุขแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2573 ซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่ภาคสุขภาพตื่นตัวขับเคลื่อนร่วมลดโลกร้อน ทั้งนี้ประเทศไทยเตรียมขยายโรงพยาบาลต้นแบบที่ดีในการรักษาสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศต่อไป

นอกจากนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงฯ เป็นตัวแทนประเทศไทยรับรางวัล Public Health Achievements ที่องค์การอนามัยโลกสำนักงานภูมิภาคมอบให้ ซึ่งประเทศไทยจะได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการว่าประสบความสำเร็จในการกำจัดโรคเท้าช้าง มีการดำเนินงานมานานกว่าทศวรรษด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยใช้มาตรการการเฝ้าระวัง การให้ยาป้องกันและรักษาโรคในวงกว้างในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งการดูแลประชากรในเขตชายแดนโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติหรือสถานะ ทำให้ประสบความสำเร็จในการกำจัดโรคเท้าช้างในที่สุด

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่สำคัญเกิดจากการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนผ่านโครงการศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คนไทย