ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ตีความ “การแพทย์ฉุกเฉิน” เป็นภารกิจของ อปท. รองเลขาฯ สพฉ.ระบุ จากนี้ สตง.คงไม่สามารถทักท้วงได้อีก สำนักนายกรัฐมนตรีทำหนังสือชี้แจง สตง.แล้ว

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีคำทักท้วงจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เรื่องการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาโดยตลอด เนื่องจาก สตง.ไม่เข้าใจในบทบาทของ อปท.และมองว่าการใช้งบประมาณหรือการนำงบประมาณไปใช้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ฉุกเฉินนั้น ไม่ตรงตามภารกิจของ อปท.

อย่างไรก็ตาม ภารกิจต่างๆ ของ อปท.ได้ถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.กระจายอำนาจ มาตรา 16 และ 17 โดยกฎหมายได้ระบุรายละเอียดว่าให้ท้องถิ่นให้บริการสาธารณะด้านต่างๆ รวมถึงการรักษาพยาบาล เพียงแต่ในกฎหมายไม่มีการระบุคำว่าการแพทย์ฉุกเฉินไว้ สตง.จึงทักท้วงว่าการนำเงินไปใช้ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ฉุกเฉินไม่ใช่ภารกิจของ อปท.

นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ล่าสุดทาง สพฉ.ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้คณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ตีความว่าการแพทย์ฉุกเฉินเป็นภารกิจของ อปท.หรือไม่ โดยคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการชุดที่มีนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นประธาน ตีความในประเด็นดังกล่าว และเชิญให้ สพฉ.เข้าไปร่วมชี้แจงด้วย

ทั้งนี้ สพฉ.ได้ชี้แจงว่า ในกระบวนการช่วยเหลือผู้ป่วยไม่ใช่แค่เรื่องการขนส่ง แต่ยังมีขั้นตอนอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ดามแขน ดามขา ดามคอ ห้ามเลือด ฯลฯ ในรถพยาบาลที่เป็นระดับเบื้องต้น ส่วนในรถพยาบาลระดับสูงก็จะมีการให้การรักษาจากจุดเกิดเหตุ ระหว่างนำส่ง ไปจนถึงโรงพยาบาล เช่น การให้น้ำเกลือ การให้ยา ฉะนั้นการดำเนินการเหล่านี้จึงเข้าข่ายการรักษาพยาบาล ไม่ใช่แค่การนำส่งเพียงอย่างเดียว

“ในหัวข้อหนึ่งในมาตราที่ 16 และ 17 มีคำว่ารักษาพยาบาลอยู่ด้วย ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้อยู่ในข่ายของการรักษาพยาบาลอย่างชัดเจน ดังนั้น สพฉ.จึงขอให้มีการตีความว่าการที่รถออกไปรับ หรือการแพทย์ฉุกเฉินเหล่านี้ คือการรักษาพยาบาล” นพ.ไพโรจน์ กล่าว

นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ที่สุดแล้วคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ มีมติออกมาว่าการจัดการแพทย์ฉุกเฉินที่มีท้องถิ่นหรือมีมูลนิธิต่างๆ ออกไปรับคนไข้นั้น ถือว่าเป็นการรักษาพยาบาล เมื่อเป็นการรักษาพยาบาลและเป็นเรื่องที่อยู่ในภารกิจหรืออำนาจหน้าที่ของ อปท.แล้ว จากนี้ อปท.ก็สามารถปฏิบัติได้

“เรื่องนี้ทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือชี้แจงไปที่ สตง.แล้ว เพื่อให้เข้าใจตรงกัน โดยจากนี้ก็ไม่จำเป็นต้องไปออกกฎหมายเพิ่มเติมใดๆ เพราะสามารถตีความได้แล้วว่าการไปรับผู้ป่วยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพยาบาล สตง.ก็คงไม่สามารถทักท้วงได้อีกแล้วว่าการแพทย์ฉุกเฉินไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ อปท.” นพ.ไพโรจน์ กล่าว

นพ.ไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สตง.ได้ทักท้วงมาโดยตลอด และทักท้วงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดซื้อหรือจัดเช่ารถพยาบาลเพื่อให้บริการ เมื่อมีการทักท้วงก็ทำให้ อปท.บางแห่งต้องยอมคืนเงินไป ส่งผลต่อประชาชนที่ต้องเสียโอกาสในการได้รับบริการ ยืนยันว่าการแพทย์ฉุกเฉินจำเป็นต้องให้ อปท.มาช่วยดำเนินการจึงจะครอบคลุมอย่างทั่วถึง เพราะแม้แต่มูลนิธิเองก็ไม่สามารถไปในทุกๆ พื้นที่ได้ หากท้องถิ่นไม่สามารถมาทำเรื่องนี้ได้ ประชาชนก็จะไม่สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วหน้า