ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นที่ทราบกันดีว่าในปี 2554 สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจพบว่า อัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนในจังหวัดพะเยา สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ

อรุณี ชำนาญยา

ในประเด็นนี้ อรุณี ชำนาญยา ประธานเครือข่ายประชาคมงดเหล้าจังหวัดพะเยา ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีเลย เราพบว่าปัญหาที่เกิดจากการดื่มสุรามีหลายอย่าง อีกทั้งยังมีการจำหน่ายสุราชุมชนที่ไม่ปลอดภัยอีกเป็นจำนวนมาก ในปี 2556 ในฐานะอดีต ส.ส.จังหวัดพะเยาเขต 1 คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ สภาผู้แทนราษฎร จึงได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดพะเยาขึ้นมา เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเขตพื้นที่จังหวัดพะเยา

ต่อมาในปี 2557 จังหวัดพะเยาได้มีคำสั่ง 863/2557 ลงวันที่ 1 เมษายน 2557 แต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหา การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเขตพื้นที่จังหวัดพะเยา โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาเป็นประธานคระกรรมการ และมีปลัดจังหวัดพะเยาเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ซึ่งทางคณะกรรมการประกอบด้วยบุคลากรที่มาจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหา การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเขตพื้นที่จังหวัดพะเยานี้เป็นศูนย์เดียวในประเทศไทยที่ทำงานด้านปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นรูปธรรมโดยมีภาครัฐเป็นผู้กำหนดนโยบาย และมีการขับเคลื่อนการทำงานจากทุกภาคส่วนดังที่กล่าวมาข้างต้น

โดยมี 5 ยุทธศาสตร์ในการทำงาน คือ

1.สร้างคณะทำงานและเครือข่ายทุกระดับ เชื่อมต่อคระกรรมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด

2.สร้างทีมวิทยากรกระบวนการแก้ไขปัญหา

3.พัฒนาทีมสื่อมวลชน นักจัดรายการวิทยุเชิงสร้างสรรค์สังคม

4.ควบคุมการผลิต จำหน่ายสุราชุมชน สุราเถื่อน จัดโซนนิ่ง มีมาตรการภาษี และกำหนดพื้นที่ปลอดเหล้ามากขึ้น

5.พัฒนาชุมชนให้เกิดเครือข่ายที่เข้มแข็งลดปัจจัยเสี่ยง และเปลี่ยนและคัดเลือกคนต้นแบบ หมู่บ้านต้นแบบ และส่งเสริมการศึกษาวิจัยในพื้นที่

อรุณี กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่ภาคประชาชนให้ความสำคัญคือ การร่วมรับฟังความคิดเห็นในเวทีต่างๆ ซึ่งทำให้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ที่ชุมชนไม่สามารถจัดการเองได้ เช่น กรณีปัญหาการบริโภคสุราเถื่อน ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ ครอบครัว ชุมชน และทวีความรุนแรงมากขึ้น ในเวทีต่างๆ ได้มีการเสนอให้ยุบโรงกลั่นสุราชุมชน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหา ซึ่งการทำงานของภาคประชาสังคมถือว่าเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมประสานงานให้เกิดการแก้ไขปัญหาของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เชื่อหรือไม่ว่าโรงกลั่นสุราบางแห่งมีการลักลอบผลิตสุราเถื่อนที่ใช้วัตถุดิบที่เป็นอันตรายต่อคน เช่น ยาฆ่าหญ้า ออกมาจำหน่ายในรูปแบบขวดน้ำดื่ม แบ่งถุงขาย ในราคาไม่แพงมาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นคืออะไร คือคนที่ดื่มสุราที่ไม่ได้มาตรฐาน (เหล้าเถื่อน) ผลเสียเกิดขึ้นกับร่างกายอย่าแน่นอน และที่แย่ไปกว่านั้น คือการรักษาทางการแพทย์จะรักษาอาการติดสุราได้ยากกว่าคนที่ดื่มสุราที่ถูกกฎหมาย และอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ตนเองหันมาทำงานด้านนี้ คือ เวลาไปงานศพ ยกตัวอย่างไปงาน 8 งาน จะมีผู้เสียชีวิตจากการดื่มเหล้าแล้ว 6 ราย ตนจึงต้องเข้าไปขอผู้ว่าฯเพื่อทำงานเรื่องเหล้าอย่างจริงจัง”

เมื่อเริ่มต้นทำงานด้านนี้ได้รับเสียงคัดค้านจากฝากฝั่งการเมือง ที่หวั่นว่าจะกระทบต่อฐานคะแนนเสียง ซึ่งนักการเมืองส่วนมากไม่ค่อยมีใครอยากจะทำการคัดค้านเรื่องการดื่มของคนในชุมชน และไม่อยากมีปัญหากับผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น แต่สำหรับตนเองแล้วมองว่าคนที่จะมาทำงานตรงนี้ได้ต้องเริ่มมาจากที่ใจก่อน เมื่อใจพร้อมเราต้องเล็งหาพื้นที่ต้นแบบให้ได้ พื้นที่นำร่องในการทำงานที่จังหวัดพะเยา คือ อำเภอเมือง และอำเภอแม่ใจ จากนั้นดึงฝ่ายปกครองเข้ามาร่วมทีมทำงานให้เป็นนโยบายของจังหวัด เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการทำงาน และต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงอันตรายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้แต่ละพื้นที่มีความเข้าใจตรงกันและเกิดการยอมรับ จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนทำงานในพื้นที่ได้

ผลที่ได้ในวันนี้คือ อันดับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนพะเยาตกอันดับไปอยู่ที่ 25 ของประเทศแล้ว และมีพื้นที่ 9 อำเภอ 66 ตำบล 805 หมู่บ้านที่ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถลดจำนวนโรงกลั่นสุราจากทั้งหมด 270 โรง ลดลงเหลือเพียง 158 โรง มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการงดเหล้าในวันพระ จำนวน 540 ร้าน จาก 2,100 ร้าน และในปี 2559 สามารถจัดงานศพปลอดเหล้าได้ร้อยละ 84

อรุณี กล่าวในตอนท้ายว่า สิ่งที่อยากจะฝากไปถึงรัฐบาลคือ อยากให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กับการจำกัดพื้นที่จำหน่ายสุรา อย่างในต่างประเทศเขาจะมีพื้นที่โซนนิ่งจำหน่ายสุรากันเลย ร้านค้า ร้านขายของชำไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่พอหันมาบ้านเราทุกร้านสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้กันเสรี ถ้าเราสามารถจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อีกทางหนึ่ง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง