ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาครเผยอานิสงค์นโยบายขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ทำให้แนวโน้มค่าใช้จ่ายในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาลดลง จากเดิมต้องแบกภาระปีละ 20 ล้านลดเหลือ 5 ล้านบาทในปี2560 เชื่อหากขึ้นทะเบียนได้ทั้งหมด ภาระส่วนนี้จะหายไป

นพ.โมลี วนิชสุวรรณ (ขอบคุณภาพจาก www.sakhononline.com)

นพ.โมลี วนิชสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายเข้มงวดให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายมาขึ้นทะเบียน โดยกำหนดให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมหรือซื้อบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ทำให้แนวโน้มตัวเลขค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลต้องแบกรับในการให้บริการแรงงานที่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาและไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ เลยลดลงอย่างต่อเนื่อง

นพ.โมลี กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลสมุทรสาครปัจจุบันแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1.แรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม กลุ่มนี้ไม่มีปัญหาเพราะมีสิทธิเหมือนคนไทย เวลาเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากการทำงานก็ใช้สิทธิได้หมด 2.แรงงานที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติของกระทรวงสาธารณสุข จะรักษาได้บริการรักษาพยาบาล ยกเว้นกรณีบาดเจ็บจากการทำงานซึ่งไม่สามารถใช้เงินกองทุนเงินทดแทนได้ และ 3.แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสิทธิประกันสุขภาพใดๆ เลย เช่น แรงงานผิดกฎหมาย จะต้องจ่ายเงินค่ารักษาเองทั้งหมดทุกครั้งไม่ว่าเป็นการเจ็บป่วยทั่วไปหรือบาดเจ็บจากการทำงาน

นพ.โมลี กล่าวว่า จำนวนคนไข้กลุ่มที่ 3 ซึ่งไม่มีสิทธิหรือประกันสุขภาพใดๆ และไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้ถือว่ามีเยอะพอสมควร แต่ละปีจะมีคนไข้กลุ่มนี้ประมาณ 200 คน แบ่งเป็นการบาดเจ็บจากการทำงาน 50-70 คน ส่วนที่เหลือคือกลุ่มที่เจ็บป่วยทั่วไป ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นค่ายา จ้างบุคลากร ค่าเวร ฯลฯ โรงพยาบาลจ่ายแล้วจ่ายเลย ไม่สามารถเก็บเงินได้ โดยหากนับเฉพาะกลุ่มที่บาดเจ็บจากการทำงานจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1ล้านบาท/ปี แต่หากรวมกลุ่มที่เจ็บป่วยทั่วไปด้วย ในอดีตที่ผ่านมาบางปีสูงถึงก็ประมาณ 20 ล้านบาท

“กลุ่มที่เจ็บป่วยทั่วไปที่ไม่ได้เกิดจากการทำงานจะมีสัดส่วนสูงกว่า ซึ่งเมื่อเข้ารับบริการแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เพราะแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว เข้ามาทำงานหาเงิน ถ้าเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ จะไปคลินิก ไม่ยอมมาโรงพยาบาลเพราะห่วงเรื่องการทำงาน แต่จะมาโรงพยาบาลก็ต่อเมื่อเจ็บป่วยหนักจริงๆ ชนิดที่ว่าถึงขั้นช็อกจะไม่รอดแล้ว ซึ่งเมื่อทีหนึ่งค่าใช้จ่ายจะมหาศาลเพราะต้องใช้ยาเยอะ บางคนต้องผ่าตัดใหญ่ ต้องนอนโรงพยาบาลหลายวัน ค่าใช้จ่ายแต่ละคนเป็นหลักแสนบาท” นพ.โมลี กล่าว

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวต่อไปว่า แม้คนไข้กลุ่มนี้จะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ แต่โรงพยาบาลก็ให้การรักษาด้วยจริยธรรมและเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องให้การรักษาทุกคนที่เจ็บป่วย โดยแก้ปัญหาจากการนำเงินรายรับส่วนอื่นๆ มาถัว ทำให้สถานการณ์เงินปีที่ผ่านๆ มาจะมีทั้งขาดทุนบ้าง กำไรบ้าง สลับกันไป

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายให้แรงงานกลุ่มนี้ขึ้นทะเบียน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลต้องแบกรับลดลงเรื่อยๆ จากอดีตปีละ 20 ล้านบาทก็ลดลงมาเหลือ 5 ล้านบาทในปี 2560 ซึ่งหากสามารถขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติได้ทั้งหมด เชื่อว่ารายจ่ายตรงนี้ก็น่าจะหายไป

“แต่ที่โรงพยาบาลเราห่วงไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว เราห่วงที่สุดเรื่องการควบคุมโรคเพราะแรงงานกลุ่มนี้ถ้ามาขึ้นทะเบียน เขาจะได้เอ็กซเรย์ปอด เจาะเลือด ตรวจสุขภาพดูโรคต่างๆ จนละเอียด แต่ถ้าไม่มาขึ้นทะเบียน ไม่ได้ตรวจสุขภาพ เราก็ไม่รู้ว่าเขามีโรคอะไรติดมาและจะแพร่เชื้อหรือเปล่า ตรงนี้ก็น่ากลัวเพราะเขาก็อยู่ปะปนกับคนไทย ถ้าเชื้อบางอย่างระบาดในเมืองไทยมันจะมีความเสี่ยง” นพ.โมลี กล่าว

(ขอบคุณภาพจาก www.sakhononline.com)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง