ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผยสถิติผู้รับบริการที่ห้องฉุกเฉินเฉลี่ย 35 ล้านครั้งต่อปี พบร้อยละ 60 เป็นผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน พัฒนาห้องฉุกเฉินทั่วประเทศ มีระบบคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินชัดเจน ให้ผู้ป่วยวิกฤตได้รับการรักษาปลอดภัย ความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ที่ห้องฉุกเฉินไม่ถูกคุกคาม ลดอัตราตาย ลดความพิการ ด้วยทีมแพทย์ และเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ มาตรฐาน

วันนี้ (6 ตุลาคม 2560) ที่ รพ.นราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำคณะลงพื้นที่ติดตามนโยบายการจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12 และตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์

นพ.เจษฎา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ปฏิรูประบบสุขภาพ มีการเชื่อมโยงระบบบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ เบ็ดเสร็จภายในเขตสุขภาพ และระบบส่งต่อระหว่างโรงพยาบาลขนาดเล็กกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีโดยเฉพาะผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน ได้รับบริการที่ได้มาตรฐาน ทั่วถึง เป็นธรรม

นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันทั่วประเทศ มีสถิติผู้รับบริการที่ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน (ER) เฉลี่ย 35 ล้านครั้งต่อปี ร้อยละ 60 เป็นผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินทำให้เกิดความแออัด ประกอบกับการขาดแคลนบุคลากร รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดให้มีการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลทุกระดับ เพื่อให้ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน ได้รับความปลอดภัยมากที่สุด ลดอัตราการตาย และลดความพิการ โดยพัฒนาห้องฉุกเฉิน หรือห้องอีอาร์ ให้เป็นห้องอีอาร์คุณภาพ (ER QUALITY) อาทิ รถพยาบาลปลอดภัย มีเครื่องช่วยชีวิตที่ได้มาตรฐาน มีระบบคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินชัดเจนมีมาตรฐาน ผู้ป่วยวิกฤติต้องได้รับการรักษาด่วน ไม่อยู่ห้อง ER นานกว่า 4 ชั่วโมง เจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาทุกที่ทุกสิทธิ (UCEP) ความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ที่ห้องฉุกเฉินไม่ถูกคุกคาม โรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ต้องจัดแพทย์เฉพาะทางแต่ละสาขาเป็นแพทย์ที่ปรึกษากรณีจำเป็นตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น

ตลอดจนพัฒนาบุคลากรแต่ละสาขาวิชาชีพให้เพียงพอ โดยให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ประเมินและปรับปรุงตนเองให้ได้ตามเกณฑ์ คาดว่าจะสามารถลดอัตราการตายที่ป้องกันได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 ทั้งนี้ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือได้รับอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุทางหมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้าน นพ.เจษฎา ฉายคุณรัฐ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 12 กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 12 ประกอบด้วย 7 จังหวัดได้แก่ ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีประชากร 4,887,545 คน มีโรงพยาบาลที่ผ่านประเมิน อีอาร์คุณภาพแล้วได้แก่ รพ.ตรัง, รพ.พัทลุง, รพ.หาดใหญ่, รพ.สงขลา, รพ.สตูล, รพ.ยะลา, รพ.ปัตตานี และ รพ.นราธิวาส โดยจะมีการพัฒนาโรงพยาบาลในเขตให้เป็นโรงพยาบาลที่มีอีอาร์คุณภาพครบทุกโรงพยาบาล โดยเฉพาะพื้นที่พิเศษ เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย และลดอัตราพิการ ลดตาย สำหรับโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ในปี 2559 มีผู้มารับบริการที่ ER จำนวน 38,628 คน เฉลี่ย 106 คนต่อวัน