ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเทศแคนาดามีร้านสะดวกซื้อราว 25,000 แห่ง สร้างรายได้ 16,000 ล้านเหรียญต่อปี โดยมีรายงานกำไรประมาณ 1,000 ล้านเหรียญต่อปี

ลักษณะของร้านสะดวกซื้อของแคนาดามี 4 ประเภทได้แก่ ร้านที่มีเจ้าของรายย่อยแบบมีขายน้ำมันและไม่ขายน้ำมัน และร้านที่เป็นสาขาของธุรกิจรายใหญ่แบบมีและไม่มีขายน้ำมัน

ยอดขายของในร้านที่มีขายน้ำมันจะสูงกว่าร้านที่ไม่ขายน้ำมันราวร้อยละ 22

ร้านสะดวกซื้อของประเทศแคนาดานั้นมีกฎหมายและระเบียบที่ออกมาควบคุมรวมทั้งสิ้น 517 ฉบับ มากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ออตตาวา 34 ฉบับ ออนตาริโอ 85 ฉบับ บริติชโคลัมเบีย 72 ฉบับ ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะกล่าวถึงการควบคุมปัจจัยด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ประเทศเค้าให้ความสำคัญ อาทิ บุหรี่ น้ำมัน ลอตโต้ รวมถึงผลกระทบจากการประกอบกิจการต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบ

เคยมีคนวิจัยพบว่า ยิ่งมีจำนวนกฎหมายและระเบียบควบคุมมากขึ้น จำนวนร้านที่อยู่รอดจะลดลงเรื่อยๆ จนนำมาซึ่งการเรียกร้องให้รัฐรักษาสมดุลและไตร่ตรองให้ดีก่อนออกนโยบายหรือมาตรการใดๆ

เมื่อไม่นานมานี้ มีการออกกฎหมายในปี ค.ศ.2015 ที่ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้กิจการต่างๆ แสดงข้อความเตือนในทุกที่ที่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์และจำหน่ายน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ว่าเครื่องดื่มนั้นๆ มีน้ำตาลที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้เสี่ยงต่อฟันผุ อ้วน และโรคเบาหวาน

หลังออกกฎหมายนี้ไป ก็ได้รับแรงต้านรุนแรงจากสมาคมผู้ประกอบการ ฟ้องร้องต่อศาล จนล่าสุดศาลตัดสินให้ระงับการปฏิบัติดังกล่าวนั้นไปก่อน โดยมีนัยยะที่แปลความว่าข้อความที่ระบุข้างต้นนั้นไม่ถูกต้องและเลือกปฏิบัติต่อสินค้าแบบเฉพาะเจาะจง อันหมายถึงสินค้าอื่นที่มีน้ำตาลกลับไม่ถูกควบคุม

ในขณะที่ญี่ปุ่น จ้าวแห่งร้านสะดวกซื้อ ด้วยจำนวนร้านกว่า 43,000 แห่ง ภายใต้เสรีในการค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันหลากหลายล้วนทำได้ง่ายภายใต้การตัดสินใจของแต่ละคน ข่าวคราวจึงออกมาอยู่เรื่อยๆ ว่าจำนวนผู้ที่ติดเหล้า/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศเค้าจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีรายงานว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา สร้างความกังวลต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องผลต่อสุขภาพกายและใจของบุคคลและต่อสังคม รวมถึงผลิตภาพโดยรวมของประเทศในระยะยาว

ที่ยกตัวอย่างดังกล่าวมานั้น ก็เพื่อให้ลองหันมาดูบ้านเราที่กำลังเป็นข่าวครึกโครมเรื่องการครองอำนาจของร้านสะดวกซื้อ ที่เริ่มเคลื่อนไหวสะเทือนสังคม ตั้งแต่แนวคิดขยายจากขายของทั่วไป มาสู่ร้านยา ไปรษณีย์ จนมาถึงการจะให้กู้สะดวกทุกที่ทุกเวลาในปีก่อน และขายเบียร์สะดวกดื่มแบบตู้กดในปีนี้

อิสรภาพมักทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ เพื่อขยายกำไรให้แก่เจ้าของกิจการ

แต่ความคิดใหม่ๆ อาจไม่ใช่ความคิด"สร้างสรรค์"เสมอไป

หลายครั้งความคิดใหม่ๆ นั้นจะส่งผลกระทบระยะยาวอันใหญ่หลวงต่อสังคม โดยหาคนมารับผิดชอบผลกระทบดังกล่าวได้ยาก แก้ไขกลับคืนก็ไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องใคร่ครวญให้ดีทั้งตัวเจ้าของกิจการและทีมงานที่คิดและชงให้เจ้านาย รวมถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดูแลกิจการและดูแลประชาชน

มาตรการรัฐมี 2 ประเภทคือ เชิงบวกกับเชิงลบ เชิงลบเราคุ้นเคยกันดีคือออกมาเพื่อระงับ ป้องปราม ควบคุม ทำโทษ ส่วนเชิงบวกคือออกมาเพื่อกระตุ้น หนุน เสริม ให้เกิดสิ่งที่พึงประสงค์จะโดยการแลกเปลี่ยนหรือจัดสรรให้ก็ตามแต่

ความยากอยู่ที่การตัดสินใจเชิงนโยบายว่าจะรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสุขภาพของประชาชนในประเทศอย่างไร

วาทะ"ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน" ดูจะสวยหรู แต่เป็นนามธรรม และดูจะไม่เพียงพอ เพราะเห็นกันมาหลายปีว่านโยบายรัฐที่คลอดออกมาหลายเรื่องมีแนวโน้มที่จะเกิดประโยชน์หนุนเสริมไปทางภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เน้นการหาทางค้าขายมากกว่าการมองเรื่องสุขภาพของคนในประเทศว่าคุ้มค่า

หากรัฐเอื้อให้ธุรกิจนั้นค้าขายได้ มีเสรีภาพ มีกำไร แต่ไม่อยากออกกฎหมายเข้มงวดจนเกิดผลเสียหายเชิงเม็ดเงิน (ที่รัฐอยากได้จนตัวสั่น) จะดีไหมหากช่วยกันรณรงค์ให้ร้านสะดวกซื้อเหล่านั้นจัดสรรบริการและสินค้าที่ดีต่อสุขภาพในสัดส่วนที่เท่ากันกับการเพิ่มขึ้นของสิ่งที่ชอบขายแต่ไม่ดีต่อสุขภาพ (ตามหลักฐานวิชาการ) และอยู่ในพิสัยราคาที่คนซื้อหาได้

ทางเลือกคือสิ่งสำคัญในชีวิตมนุษย์

แต่ปัจจุบัน เราหันซ้ายแลขวา ดูเหมือนว่าทางเลือกที่ดีต่อตัวเรานั้นลดน้อยถอยลง บางสถานการณ์แทบไม่มีทางเลือกเลย หรือถึงมีก็ราคาค่างวดนั้นสูงเกินกว่าจะซื้อหามาใช้มากินตามปกติวิสัย

นี่คือช่องว่างของนโยบายรัฐตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และสมควรเหลือเกินที่จะต้องรีบทำในแพ็คเกจยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
อย่าเน้นแต่ 4.0 ที่เน้นปั่นเงินจากการค้าขาย โดยลืมมองวิถีชีวิตคนส่วนใหญ่ในสังคมเลยครับบิ๊กตู่

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เอกสารสำหรับอ่านเพิ่มเติม
1. http://www.cspdailynews.com/category-news/beverages/articles/soda-warnings-put-hold
2. http://business.financialpost.com/entrepreneur/red-tape-crippling-convenience-stores
3. Ito M. Dealing with addiction: Japan’s drinking problem. Should more be done to change the country's attitude toward alcohol?. The Japan Times, April 2014.