ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์แนะผู้สูงวัยออกกำลังกาย 3- 5 วันต่อสัปดาห์ ช่วยห่างไกลโรคหัวใจ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ทำให้ความจำดี สดชื่น แจ่มใส แถมอ่อนกว่าวัย

นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2558 พบว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คือมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปี ขึ้นไป) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งปัจจุบันผู้สูงอายุมีจำนวน 11 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.2 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคต่างๆ เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นอวัยวะในร่างกายจะมีความเสื่อมตามวัย ก่อให้เกิดโรคเรื้อรังหรืออาจเป็นหลายๆ โรคพร้อมกัน นำไปสู่การเกิดกลุ่มอาการต่างๆ เช่น ภาวะพลัดตกหกล้ม ความจำบกพร่อง ภาวะขาดสารอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้การป้องกันปัญหาสุขภาพหรือชะลอความเสื่อมเหล่านี้ให้ดีที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย

สำหรับวิธีการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ อันดับแรกควรคำนึงถึงโรคประจำตัวหรือความผิดปกติของร่างกายก่อนเริ่มออกกำลังกาย โดยเริ่มจากการเดินแล้วเพิ่มเวลามากขึ้นจนถึง 20 นาทีถ้าไม่รู้สึกเหนื่อยหรือผิดปกติสามารถเพิ่มเป็นเดินเร็วๆ หรือวิ่งเหยาะๆ ได้ ควรใช้เวลาออกกำลังกายประมาณ 20 - 40 นาที แบ่งเป็น อบอุ่นร่างกาย 5 - 10 นาที ออกกำลังกาย 10 - 20 นาที และผ่อนคลายกล้ามเนื้อ 5 - 10 นาที ไม่ควรใช้เวลาเกิน 40 นาทีต่อครั้ง เพราะจะเป็นการหักโหมเกินไป

ควรออกกำลังกายตามความสามารถและสภาพร่างกาย ไม่ควรฝืน และงดออกกำลังกายขณะไม่สบาย มีไข้ อ่อนเพลีย เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ และที่สำคัญเมื่อเกิดอาการผิดปกติขณะออกกำลังกาย เช่น หน้ามืด ใจสั่น ควรชะลอและหยุดออกกำลังกาย และรีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้การออกกำลังกายสามารถทำในช่วงเวลาใดก็ได้ แต่ควรเป็นช่วงก่อนทานอาหาร 1 ชั่วโมงหรือหลังทานอาหาร 2 ชั่วโมงขึ้นไป ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทดี ไม่ร้อนเกินไป ใส่เสื้อผ้าที่สบายไม่รัดรูป และสวมรองเท้าที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันหรืออย่างน้อย 3 - 5 วันต่อสัปดาห์ ในรูปแบบ เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆว่ายน้ำ เป็นต้น

หากมีโรคประจำตัวหรือมีความผิดปกติ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เคยแน่นหน้าอกหรือเจ็บหน้าอก เป็นลมหน้ามืด เวียนศีรษะ ข้อเสื่อมหรือปัญหาทางกระดูก มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าสามารถออกกำลังกายได้หรือไม่ หรือควรออกกำลังกายอย่างไร

รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อว่า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะส่งผลดีต่อผู้สูงอายุทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ช่วยลดความเครียดเพิ่มสมาธิ ทำให้จิตใจแจ่มใส นอนหลับสนิท ป้องกันโรคที่เกิดจากการเสื่อมและฟื้นฟูร่างกายจากโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคข้อเสื่อม เป็นต้น ทั้งนี้หากผู้สูงอายุสามารถปฏิบัติตนตามข้อแนะนำดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี