ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการ เผยเวทีระดับโลกด้านนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับโลก หรือ GAPC แสดงความเป็นห่วงประเทศไทยที่ปล่อยให้มีการจำหน่ายเบียร์สดในร้านสะดวกซื้อเป็นประเทศแรกในโลก พร้อมถามหาความรับผิดชอบจากบริษัทที่จำหน่ายเครื่องแอลกอฮอล์

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2560 นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เปิดเผยว่า จากกรณีที่ประเทศไทยมีข่าวร้านสะดวกซื้อเปิดจำหน่ายเบียร์สดในเครื่องแบบกดนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการประชุม Global Alcohol Policy Conference (GAPC) 2017 ที่กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 4-6 ตุลาคม 25660 ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ที่สุดของวงการนักวิชาการด้านนโยบายการควบคุมแอลกอฮอล์ ข่าวการจำหน่ายเบียร์สดในร้านสะดวกซื้อของไทยนั้นเป็นที่สนใจแก่วงการวิชาการแอลกอฮอล์โลกมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่เอาเบียร์สดมาขายในร้านสะดวกซื้อได้ สิ่งนี้ทำให้นักวิชาการเหล่านี้ประณามสิ่งที่เกิดขึ้น แสดงความเป็นห่วงต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทย ขอให้ผู้เกี่ยวข้องทบทวนนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน และขอให้ประชาชนตื่นตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นและอาจจะเป็นภัยที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยกว้างได้

โดยเวทีดังกล่าวมีนักวิชาการที่ร่วมแสดงความคิดเห็นเหล่านี้ล้วนเป็นนักวิชาการระดับโลกที่ผ่านการตีพิมพ์การวิจัยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์นับร้อยฉบับ อาทิเช่น ศาสตราจารย์แซลลี คาสเวล(Sally Casswell) ประธานกรรมการเครือข่ายแอลกอฮอล์ระดับโลก Global Alcohol Policy Alliance(GAPA) และ ศาสตราจารย์โรบิน รูม (Prof. Robin Room) ที่ปรึกษาอาวุโส The Centre for Alcohol Policy Research (CAPR) เป็นต้น

นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี กล่าวว่า ด้านข้อกฎหมายในมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 “ว่าด้วย การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยใช้เครื่องขายอัติโนมัติ” ซึ่งที่ 7-11 สุ่มเสี่ยงจะโดน คือการใช้เครื่องอัตโนมัติเติมเบียร์ลงแก้ว แต่ที่อาจจะหลุดไปเพราะต้องไปจ่ายเงินกับพนักงาน ไม่ใช่หยอดตู้ ซึ่งคงต้องมีการตีความกันให้ชัดๆออกมา

ส่วนอีกมาตราที่ห้างค้าปลีกใช้ช่องว่างของกฎหมายจนหลุดข้อควบคุมคือ มาตรา 32 ของ พ.ร.บ.เดียวกัน “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม” ข้อนี้ 7-11 เลยเอาผ้ามาคลุมตู้เบียร์เพื่อไม่ให้เห็นชื่อยี่ห้อไปเสียเลย เลยไม่ผิดกฎหมาย คำถามคือเวลาเปิดขายต้องเอาผ้าคลุมออกหรือปล่าวแล้วโลโก้ก็ปรากฏอยู่ดีใช่หรือไม่

“สุดท้ายอยากฝากไปถึงทั้งห้างปลีกและบริษัทผู้ผลิตแอลกอฮอล์ที่คิดค้นวลีเลี่ยงบาลีกฎหมาย เอาเบียร์สดมาวางขายว่า ช่วยมารับผิดชอบผลกระทบจากแอลกอฮอล์ให้คนไทยหน่อยได้หรือไม่ พวกท่านก็หาช่องว่างของกฎหมาย หาเจอก็ใช้โอกาสทันที เน้นโกยเงินเข้ากระเป๋าลูกเดียว ไม่สนจริยธรรมอะไรเลย รู้ทั้งรู้ว่าคนไทยส่วนหนึ่งยังใส่ใจกับขนบธรรมเนียมและจริยธรรมอยู่ และคนไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์มากมายแล้ว ยังหวังจะเพิ่มยอดขาย เพิ่มรายได้ของตัวเองอย่างเดียว ถ้าเป็นไปได้ มาจ่ายค่าชดเชยผู้เสียชีวิต ผู้รับเคราะห์ จากแอลกอฮอล์ทั้งหมดได้ก็ดี”

นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องข้อกฏหมายของการขายเบียร์สดในร้านค้าปลีก หากพิจารณาด้วยประเด็นทางกฎหมายเท่านั้นคงต้องยอมรับว่ายังอาจจะไม่มีมาตรการใดควบคุม หรือมันอาจจะยังไม่ผิดกฏหมาย แต่เรื่องแบบนี้จะพิจารณาจากตัวบทกฏหมายอย่างเดียวคงไม่ครอบคลุม เนื่องจากกฎหมายมักจะเกิดหลังจากสังคมมีปัญหาแล้ว ผู้เกี่ยวข้องต้องพิจารณาถึงผลกระทบด้านอื่นๆ ด้วย ถึงตอนนี้กฎหมายจะไม่ครอบคลุมเรื่องเหล่านี้ แต่ต้องใช้หลักเจตนารมณ์ของการสร้างกฏหมายที่ต้องการพิทักษ์และปกป้องสวัสดิภาพของประชาชน ซึ่งการขายเบียร์สดในร้านขายปลีกเช่นนี้ผิดเจตนารมณ์สำคัญของการกฏหมายควบคุมแอลกอฮอล์แน่นอน หรือถ้ามีช่องทางออกกฎหมายเพิ่มเพื่อควบคุมก็ต้องรีบทำ