ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ ใช้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เป็นเครื่องมือบริหารการใช้ยาสมเหตุผล หากพบมีการใช้ยาผิดปกติให้ตรวจสอบ พร้อมรายงานทันที

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข

วันนี้ (10 ตุลาคม 2560) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กทม. นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์เภสัชกรรม เปิดการประชุม “แนวทางการจัดหายาและเวชภัณฑ์จากองค์การเภสัชกรรมตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง” โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล หัวหน้างานเภสัชกรรม จากหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 500 คน

นพ.เจษฎา กล่าวว่า การประชุมวันนี้มีจุดมุ่งหมายให้หน่วยบริการเกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินการจัดหายาและเวชภัณฑ์ขององค์การเภสัชกรรมให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยบริการในสังกัดสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจุดมุ่งหมายของ พ.ร.บ.ฯ ฉบับใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดความรัดกุมในการจัดหายาและเวชภัณฑ์ มุ่งเน้นการป้องกันการทุจริต รวมทั้งประกาศและกฎกระทรวงการคลังที่มุ่งเน้นให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า มียาและเวชภัณฑ์ที่มีคุณค่าอย่างต่อเนื่องภายใต้ความจำกัดของงบประมาณ

“การประชุมครั้งนี้ทุกท่านจะได้คำตอบในเรื่องแนวทางการจัดซื้อยา เทคนิคการบริหารยา รวมทั้งการจัดซื้อตามบัญชีนวัตกรรมที่กำลังรอประกาศ ทั้งนี้ขอให้ยึดตามบัญชียาหลักแห่งชาติเพราะนวตกรรมส่วนใหญ่อยู่ในบัญชียาหลักแล้ว และเมื่อมีประกาศออกมา จะมีการประชุมชี้แจงกับหัวหน้าห้องยา ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างอีกครั้ง” นพ.เจษฎา กล่าว

นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า ขอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ ดำเนินการดังนี้ 1.ใช้พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เป็นเครื่องมือบริหารการใช้ยาสมเหตุผล (RDU) เพื่อให้การใช้ยาในโรงพยาบาลทรงคุณค่า และใช้ตามความจำเป็น 2.ให้โรงพยาบาลทุกแห่งตรวจสอบคลังยา หากพบมีการใช้ยาผิดปกติขอให้ดำเนินการตรวจสอบพร้อมรายงานมายังส่วนกลางทันที

สำหรับการจัดซื้อยาในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะนี้การเจรจาต่อรองเกือบ 100% เหลืออีก 2 ตัว ส่วนใหญ่ราคาเท่าเดิม บางส่วนถูกลงประหยัดงบได้มากกว่า 80 ล้านบาท และได้รับการยืนยันจากผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมว่า จัดซื้อทันแน่นอนไม่มีปัญหาการขาดยา กรณียาบางตัวที่มีแนวโน้มจะขาด องค์การเภสัชกรรมจะสำรองไว้ให้หน่วยบริการยืมใช้ได้ทันที