ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมแผนปฏิบัติการด้านสาธารณสุข รองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ด้วยแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม เตรียมเชิญหน่วยงานด้านสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม เพื่อพัฒนาประเทศด้วยปัญญา เทคโนโลยี และนวัตกรรม

เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เจษฏา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 10/2560 โดยที่ประชุมได้รับทราบแผนแผนปฏิบัติการด้านสาธารณสุข รองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ของรัฐบาล

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจัดทำแผนปฏิบัติการด้านสาธารณสุข รองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก พ.ศ.2560-2564 โดยจัดทำโครงการพัฒนาสถานบริการด้านสุขภาพใน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ด้วย 3 มาตรการหลัก ดังนี้

1.ยกระดับการให้บริการด้านสาธารณสุข โดยมีศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะด้านในสถานบริการสาธารณสุข

2.พัฒนาศักยภาพการให้บริการด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชากรวัยแรงงานและรอบเขตอุตสาหกรรมปลอดภัยมีสุขภาวะที่ดี

3.พัฒนาระบบบริหาร บริการด้านสาธารณสุข เพื่อรองรับนโยบาย โดยหน่วยบริการและบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้รับการพัฒนาศักยภาพเพี่อรองรับบริการ

ทั้งนี้ คาดว่าประชากรและแรงงาน 3 จังหวัดในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก จะเพิ่มขึ้นจาก 2.8 ล้านคนเป็น 13 ล้านคนภายใน 10 ปี กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนพัฒนาระบบบริการรองรับการขยายตัวของประชากร ตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) โดยเฉพาะสาขาอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม คาดว่าจะต้องเพิ่มเตียง 746 เตียง เพิ่มคลินิกอาชีวเวชศาสตร์ 23 แห่ง ยูนิตรองรับผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวกขนาด 30 เตียง ห้องผ่าตัด หอผู้ป่วยหนัก ไอซียูทารกแรกเกิด และห้องอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน เป็นต้น ในส่วนอัตรากำลังคาดว่าต้องเพิ่มแพทย์ 1,430 คน พยาบาล 4,430 คน

อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมเชิญชวนภาครัฐและเอกชนที่มีบริการด้านสุขภาพ เข้าร่วมในการจัดระบบบริการรองรับการพัฒนาตามแนวทางประชารัฐ โดยนำเอาระบบ “พีพีพี-ฟาสแทร็ค” มาใช้ เพื่อให้การขับเคลื่อนประเทศไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ด้วยการพัฒนาประเทศด้วยปัญญา เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยการลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายได้แก่ สาขายานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวในกลุ่มรายได้สูงและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร