ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.หาแหล่งรั่วไหล ยาน้ำแก้ไอ ยาน้ำแก้แพ้ ใช้เป็นส่วนผสมยาเสพติด 4 x 100 พบตกแต่งข้อมูล รายงานเท็จ แม้จะมีการออกกฎเข้มอยู่แล้วให้ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้าฯ และขายยา ต้องจัดทำบัญชีการซื้อและขายยา รายงานการผลิต นำเข้าฯ และขายยา รวมถึงต้องรายงานข้อมูลการขายส่งยาผ่านระบบสารสนเทศ (FDA Reporter) อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ในภาคใต้ที่มีการลักลอบนำยาน้ำแก้ไอ ยาน้ำแก้แพ้ ไปใช้เป็นส่วนผสม 4 x 100 เพื่อดื่มให้เกิดอาการมึนเมา ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม ซึ่งที่ผ่านมามีการจับกุมผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้เป็นจำนวนมากนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพภาค 4 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มุ่งเน้นในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำยาน้ำแก้ไอและยาน้ำแก้แพ้ไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม

จากการดำเนินการสามารถจัดการได้ถึงต้นตอของแหล่งกระจายยา 2 แหล่งใหญ่ แหล่งแรกเป็นยาน้ำเชื่อมแก้แพ้ ยี่ห้อCephendryl syrup ทะเบียนตำรับยาที่ 2A 11/55 ผลิตโดย บริษัท นิวไลฟ์ฟาร์ม่า จำกัด พบเป็นของกลางในพื้นที่ สภ.ยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี และที่ด่านตรวจยานพาหนะชุมพร ริมถนนเพชรเกษม (กรุงเทพฯ-ชุมพร) รวมจำนวน 53,900 ขวด ผลการตรวจสอบบริษัทฯ พบว่า มีการรายงานอันเป็นเท็จ โดยข้อมูลรายงานการขายยา ระบุว่ามีการขายส่งยาดังกล่าวไปยังร้านยาต่าง ๆ แต่ข้อเท็จจริงพบว่าร้านยาบางแห่งไม่มีใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันและปฏิเสธว่าไม่ได้สั่งซื้อยาหรือรับยาจากบริษัทฯ รวมทั้งพบของกลางมากกว่าที่ระบุในบันทึกการผลิต และไม่มีการแจ้งข้อมูลการขายส่งยาผ่านระบบ FDA Reporter

ส่วนแหล่งที่สอง คือ ยาน้ำแก้ไอ A-Chlordyl Syrup ทะเบียนตำรับยาที่ 2A 167/55 ผลิตโดย บริษัท โมเดิร์น ฟาร์มา จำกัด ยึดของกลางยาน้ำแก้ไอในพื้นที่จังหวัดชุมพรและนครศรีธรรมราช รวมจำนวน 71,700 ขวด เมื่อตรวจสอบข้อมูลบัญชีการซื้อและขายยา รายงานการผลิตและขายยา รวมถึงลงพื้นที่ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของผู้ผลิตคือ บริษัท โมเดิร์น ฟาร์มา จำกัด ผู้แทนจำหน่ายคือ บริษัท โมเดิร์น เมด จำกัด ร้านขายส่งยาในกรุงเทพฯ จำนวน 5 แห่ง และร้านขายยาในจังหวัดนครศรีธรรมราช สันนิษฐานได้ว่ามีการเตรียมการเพื่อจัดทำและตกแต่งข้อมูล เพื่อให้พิจารณาได้ว่ามีการประกอบธุรกิจซื้อขายยาโดยสุจริต ในขณะที่พยานและหลักฐานที่ตรวจสอบพบ แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มีการซื้อขายจริง

อีกทั้งจากการตรวจสอบสถานที่ที่เกี่ยวข้องพบว่า มีเพียงบริษัท โมเดิร์น ฟาร์มา จำกัด เท่านั้นที่มีคลังเก็บสินค้า จึงเชื่อได้ว่า บริษัท โมเดิร์น ฟาร์มา จำกัด มีการจัดส่งหรือเคลื่อนย้ายยาลงสู่พื้นที่เป้าหมายโดยตรง ประกอบกับ ผู้ดำเนินกิจการของร้านขายยาในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ให้การปฏิเสธการสั่งซื้อยาดังกล่าวจากร้านขายส่งยาทั้ง 5 แห่ง ดังนั้น บัญชีและรายงานต่าง ๆ ที่บริษัท โมเดิร์น ฟาร์ม่า จำกัด, บริษัท โมเดิร์น เมด จำกัด และร้านขายส่งยาทั้ง 5 แห่ง จัดทำขึ้นและแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ถือว่าเป็นบัญชีและรายงานอันเป็นเท็จ

ภายหลังพิจารณาจากพฤติการณ์พร้อมพยานหลักฐาน และเอกสารบัญชีและรายงานต่าง ๆ แล้ว แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาทำรายงานการผลิตและรายงานการขายยาไม่ตรงตามที่ผลิตจริง เป็นเหตุให้มีปริมาณยาที่ไม่มีการรายงานการขายไหลออกนอกระบบสาธารณสุขเพื่อให้เด็กและเยาวชนนำไปใช้ในทางที่ผิด จนอาจเป็นต้นเหตุของการนำไปสู่การใช้ยาเสพติดให้โทษที่มีความร้ายแรงมากขึ้น อย.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยา จึงได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้รับอนุญาตและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ และมีมาตรการทางปกครองพักใช้ใบอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบันของ บริษัท นิวไลฟ์ฟาร์ม่า จำกัด และบริษัท โมเดิร์น ฟาร์มา จำกัด เป็นเวลา 120 วัน และพักใช้ใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันของบริษัท โมเดิร์น เมด จำกัด และร้านขายส่งยา รวม 5 แห่ง เป็นเวลา 120 วัน รวมทั้งเพิกถอนใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันของร้านขายส่งยา 1 แห่ง ที่ไม่มีสภาพเป็นร้านขายยา ซึ่งทำให้ขาดคุณสมบัติของการเป็นผู้รับอนุญาต

เลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา อย.ได้มีการคุมเข้มการกระจายยากลุ่มยาแก้ไอ และยาแก้แพ้ โดยกำหนดให้ผู้รับอนุญาตผลิต นำเข้าฯ และขายยา ต้องจัดทำบัญชีการซื้อและขายยา รายงานการผลิต นำเข้าฯ และขายยา รวมถึงต้องรายงานข้อมูลการขายส่งยาผ่านระบบสารสนเทศ (FDA Reporter) อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในส่วนของร้านขายยาทุกแห่ง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ขอให้ระมัดระวังในการจำหน่ายยาน้ำแก้ไอให้กับประชาชน เพื่อช่วยกันลดปัญหาการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่ง อย.ได้มีการติดตามสถานการณ์การขายยาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และหากพบมีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายจะดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนทุกราย อาจถึงขั้นพักใช้ใบอนุญาต

ทั้งนี้ ขอให้ผู้บริโภคช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นการนำยาไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ขอให้แจ้งมายัง สายด่วน อย. 1556 เพื่อ จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป