ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เผยผลสำรวจการใช้ซอฟต์แวร์ในภาคอุตสาหกรรมบริการสุขภาพพบ รพ.ขาดระบบฐานข้อมูลกลางช่วยบริหารจัดการทรัพยากร ขณะที่ซอฟต์แวร์สาธารณสุขใน 3-5 ปีข้างหน้าพบมีบริการโดยให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพื่อผู้ป่วยเคลื่อนที่น้อยที่สุด เช่น ใช้แอปจองคิว

ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการ กลุ่มยุทธศาสตร์และบริหาร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า โครงการการสำรวจข้อมูลการใช้ซอฟต์แวร์ในภาคอุตสาหกรรมหลัก ประจำปี 2559 (ภาคสุขภาพ) เน้นสำรวจข้อมูลทั้งในด้านการใช้งานซอฟต์แวร์ และการส่งผ่านข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ และกลุ่มโรงพยาบาลทุกขนาด เพื่อให้ทราบและเข้าใจถึงแนวโน้มความต้องการในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้าเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ในการสร้างและบริหารจัดการข้อมูลคนไข้ที่ต้องส่งต่อกันระหว่างผู้ให้บริการ ผู้จ่ายเงิน และผู้ควบคุมดูแล รวมทั้งเพื่อศึกษารูปแบบการให้บริการที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถติดต่อกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาลผ่านทางออนไลน์ หรือโมบาย โดยไม่จำเป็นต้องเดินทาง

ผลการศึกษาในโรงพยาบาล 809 แห่ง เน้นใช้ซอฟต์แวร์ และส่งผ่านข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ พบว่าการแชร์ข้อมูลในแต่ละส่วนต้องใช้ชุดข้อมูลหลายชุด ดังนั้นสิ่งที่ต้องการคือ สร้างระบบฐานข้อมูลกลางช่วยบริหารจัดการทรัพยากร ช่วยลดข้อผิดพลาด เข้าถึงข้อมูลได้เร็วขึ้น กว่า 90% ของโรงพยาบาลทุกขนาดเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และกว่า 70% พร้อม

ขณะที่ซอฟต์แวร์สาธารณสุขใน 3-5 ปีข้างหน้าพบว่ามีบริการโดยให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพื่อผู้ป่วยเคลื่อนที่น้อยที่สุด เช่น ใช้แอปจองคิว เป็นต้น ส่วนเรื่องเฮลท์แคร์ มีโครงการส่งเสริมระบบระเบียบสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล ที่มุ่งเน้นการดำเนินการพัฒนาและเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบปฏิบัติการโรงพยาบาล

ดร.กษิติธร กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่า จากการศึกษา สิ่งที่หน่วยงานด้านการบริการสุขภาพต้องการเห็นในอีก 4 ถึง 5 ปี ข้างหน้า คือการสร้างระบบฐานข้อมูลกลาง (Centralization) เพื่อแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน นอกจากนี้ ในมุมมองของโรงพยาบาล ยังต้องการให้เกิดรูปแบบการให้บริการแบบ “Patient-centered medicine” หรือการให้บริการที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดยให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนที่น้อยที่สุด ซึ่งการจะทำให้เกิดการให้บริการรูปแบบนี้ได้จำเป็นต้องมีระบบซอฟต์แวร์ และไอทีที่มีประสิทธิภาพ อาทิ ระบบการนัดหมายแพทย์ที่รวดเร็ว โดยอาจนำโมบายแอปพลิเคชันเข้ามาช่วยมากขึ้น จากที่ในปัจจุบัน ได้มีการทำในลักษณะช่องคีออสที่คนไข้สามารถที่ตรวจสอบสิทธิ รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้ด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ ผลสำรวจสอดคล้องกับโครงการส่งเสริมการใช้งานระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องฯ ของดีป้า ที่มุ่งเน้นการดำเนินการพัฒนาและเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศจากระบบปฏิบัติการโรงพยาบาล: Hospital Information System หรือ HIS มาสู่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งสามารถแสดงผล (Output) ข้อมูลประวัติสุขภาพในรูปแบบเว็บเซอร์วิสและแอปพลิเคชัน บนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลาย บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ผ่านฐานข้อมูลกลางที่ออกแบบให้รองรับโครงสร้างข้อมูลในแต่ละจังหวัดให้สามารถแสดงผลอย่างถูกต้อง โดยการดำเนินงานโครงการฯ ศึกษาและพัฒนาระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่าง ๆ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้ประโยชน์จากระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Personal Health Record: PHR) ซึ่งมุ่งเน้นการขยายฐานจำนวนประชาชนใช้งานระบบให้มากที่สุดทั้งในส่วนของการแสดงผลข้อมูล และบันทึกข้อมูล ซึ่งจะส่งผลให้ฐานข้อมูลระบบ PHR มีฐานที่ใหญ่ขึ้น สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์และออกนโยบายการสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ผลสำรวจระบุว่า การพัฒนาและการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในภาคการบริการด้านสุขภาพจะนำไปสู่การให้บริการแบบ Homecare ที่จะช่วยให้คนไข้ได้รับบริการสาธารณสุขจากที่บ้านในอนาคต รวมทั้งสามารถดูแลตัวเองได้โดยใช้เครื่องมือ Wearable Device ที่เชื่อมต่อเข้ากับเซิร์ฟเวอร์ หรือคลาวด์ของโรงพยาบาล เพื่อได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ได้โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาลหากไม่จำเป็น หรือมีระบบแจ้งเตือน (alert) เตือนไปยังญาติ หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลอยู่ได้หากเกิดกรณีฉุกเฉิน ทำให้สามารถดูแลรักษาได้ทันท่วงที