ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เกิดจากการบริโภคอาหาร ได้แก่ โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน เป็นโรคที่เป็นสาเหตุการตายสูงสุดของประชากรทั่วโลกและรวมถึงประเทศไทย ผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวมีสูงและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

ปัจจัยสำคัญของการเข้าสู่โรคเหล่านี้คือพฤติกรรมการบริโภคของคนในยุคใหม่ที่มีทางเลือกในการบริโภคสูงแต่กลับล้มเหลวในการมีสุขภาพดี และวิธีการในการลดความเสี่ยงจากโรคเหล่านี้ที่สำคัญคือการสำรวจตรวจสอบข้อมูลก่อนการบริโภค โดยเฉพาะข้อมูลบนฉลากของสินค้าที่เลือกบริโภค

กล่าวได้ว่า การอ่านข้อมูลต่าง ๆ บนฉลากจะทำให้ได้รับอาหารที่ปลอดภัยมากขึ้น ข้อมูลต่าง ๆ บนฉลาก มีประโยชน์สารพัน บอกวันผลิต/วันหมดอายุ/วันที่ควรบริโภคก่อน บอกวิธีปรุง วิธีการเก็บรักษา และข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร ช่วยให้ได้รับอาหารที่คุ้มค่าจากข้อมูลฉลากโภชนาการ ส่วนประกอบ และปริมาณอาหาร สร้างความเชื่อมั่นจากข้อมูลชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต เลขสารบบอาหาร

ทั้งนี้การอ่านฉลากโภชนาการ มีแต่ได้ ไม่มีเสีย ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคให้เหมาะสมกับความต้องการของตนเองได้ เช่น เลือกอาหารที่มีปริมาณไขมันต่ำ เป็นต้น หลีกเลี่ยงสารอาหารที่ไม่ต้องการ หรือสารอาหารที่ต้องการจำกัดการบริโภค เช่น ผู้ที่เป็นโรคไต ความดันโลหิตสูง เลือกอาหารที่มีปริมาณโซเดียมต่ำ รวมถึงการเปรียบเทียบเพื่อความคุ้มค่านำมาใช้เลือกอาหารชนิดเดียวกัน โดยเลือกยี่ห้อที่มีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่าได้

การอ่านฉลากโภชนาการยังช่วยระวังการบริโภค หวาน มัน เค็ม บอกปริมาณสารอาหารที่จะได้รับเมื่อบริโภคตามปริมาณที่ระบุไว้ใน “หนึ่งหน่วยบริโภค” บอกปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมเมื่อบริโภคหมดทั้งบรรจุภัณฑ์ (หมดทั้งซอง/ทั้งถุง/ทั้งกล่อง) หรือการมองหา สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ซึ่งจะช่วยให้เลือกซื้อได้ง่ายขึ้นมีประโยชน์ในการลดหวาน มัน เค็ม อันเป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)

ฉลาก หวาน มัน เค็ม อ่านง่ายได้ประโยชน์

เนื่องจากฉลากโภชนาการแบบเต็มและแบบย่อมีข้อมูลค่อนข้างมากจึงได้มีการพัฒนาต่อยอดฉลากโภชนาการให้อ่านและเข้าใจง่ายโดยการดึงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ต่อหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์ มาแสดงในรูปแบบฉลาก GDA (Guideline Daily Amounts) หรือที่เรียกว่า“ฉลาก หวาน มัน เค็ม”โดยจะปรากฏบนฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์

ฉลาก หวาน มัน เค็ม (GDA)

ฉลากหวาน มัน เค็ม บอกอะไร

1. คุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ พลังงาน น้ำตาล ไขมัน โซเดียมที่จะได้รับจากการบริโภคอาหารนั้นต่อหนึ่งหน่วยบรรจุภัณฑ์ เช่น ต่อ 1 ถุง หรือ ต่อ 1 ซอง เป็นต้น

2. เพื่อความเหมาะสมควรแบ่งบริโภคกี่ครั้ง (จะแสดงส่วนนี้เมื่อมีข้อแนะนำให้แบ่งบริโภคมากกว่า 1 ครั้ง)

3. เมื่อบริโภคอาหารนั้นหมดทั้งบรรจุภัณฑ์ (เช่น หมดทั้งถุงหรือหมดทั้งซอง ฯลฯ) จะได้รับพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมปริมาณเท่าไร

4. เมื่อบริโภคอาหารนั้นหมดทั้งบรรจุภัณฑ์ (เช่น หมดทั้งถุงหรือหมดทั้งซอง ฯลฯ) จะได้รับพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม คิดเป็นร้อยละเท่าไรของปริมาณสูงสุดที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน

สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” สำหรับผู้รักสุขภาพ

สัญลักษณ์นี้ชื่อว่าสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” (Healthier Choice) ใช้เป็นทางเลือกในการลดหวาน มัน เค็ม ได้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสัญลักษณ์นี้ แสดงว่ามีปริมาณสารอาหาร เช่น น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดและเหมาะสมในการบริโภค (เกณฑ์กำหนดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมการใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย)

เช่น หากสังเกตฉลากเครื่องดื่มที่จำหน่ายตามท้องตลาดแล้วจะพบว่ามีเครื่องดื่มบางชนิดแสดงสัญลักษณ์โภชนาการ“ทางเลือกสุขภาพ” บนฉลาก หากพบเครื่องดื่มใดมีการแสดงสัญลักษณ์นี้ แสดงว่าเครื่องดื่มนั้นมีปริมาณน้ำตาลไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ความใส่ใจในข้อมูลการบริโภคจึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพดี และเป็นการป้องกันการเจ็บป่วยที่คนทุกคนสามารถทำได้ด้วยตนเอง

เก็บความจาก

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (2560). คู่มือความรู้ทางเลือกสุขภาพ เลือกผลิตภัณฑ์อาหารอย่างฉลาด ต้องอ่านฉลาก

เรื่องที่เกี่ยวข้อง