ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายลดบริโภคเค็มห่วงใยประชาชน เตือนใช้ช่วงเทศกาลกินเจระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหารและระวังเครื่องปรุงรสที่มีรสเค็มเพิ่มรสชาติอาหาร เน้นให้รับประทานโซเดียมในปริมาณที่พอดีจะทำคนไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้า นอกจากนี้ยังฝากถึงพุทธศาสนิกชน ให้หันมาใส่ใจในการถวายอาหารแด่พระสงฆ์ลดปริมาณเค็มลง หลังจากพบว่ามีพระสงฆ์ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDS) มากขึ้น

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม กล่าวว่าในช่วงของเทศกาลกินเจ ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 20-28 ตุลาคมนี้ ทางเครือข่ายบริโภคลดเค็ม ขอใช้โอกาสนี้รณรงค์ให้ประชาชนทั่วไป ลดปริมาณโซเดียมในอาหารที่ตนเองบริโภคแต่ละมื้อ โดยเฉพาะเครื่องปรุงรสต่าง ๆ เมื่อรับประทานโซเดียมในปริมาณที่พอดี ก็จะทำคนไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้า สามารถประหยัดงบประมาณการรักษาพยาบาลของประเทศชาติได้มากขึ้น ทั้งนี้การบริโภคเกลืออและโซเดียมในระดับสูง เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 78,976 ล้านบาท จากโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือสูญเสียงบประมาณในการรักษาโรคเบาหวานกว่า 24,489 ล้านบาท และสูญเสียงบประมาณจากโรคไตวายระยะสุดท้ายกว่า 15,000 ล้านบาท

โดยปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการบำบัดทดแทนไตโดยการล้างไตทางช่องท้องหรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเฉลี่ยประมาณ 240,000 บาทต่อคนต่อปี โดยค่าใช้จ่ายนี้ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายด้วยยา ค่าใช้จ่ายทางอ้อมอื่น ๆ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องใช้งบประมาณในการล้างไตเป็นการเฉพาะ แยกจากงบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว (Capitation) โดยในปีงบประมาณ 2558 สูงถึง 5,247 ล้านบาทและจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 6,318 ล้านบาท ใน พ.ศ. 2559 ซึ่งถ้ารวมงบประมาณ สำหรับบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในสิทธิอื่นๆ ได้แก่ สิทธิประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการแล้ว รัฐจำเป็นต้องใช้งบสูงกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้สังคมไทยในปัจจุบัน มีประชาชนป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตวายเพิ่มขึ้นอย่างมาก และพบว่าการสูญเสียปีสุขภาวะจากโรคไม่ติดต่อหรือโรคเรื้อรังคิดเป็น 50% ซึ่งสูงกว่าโรคติดต่อถึง 3 เท่า

คนไทยได้รับเกลือเฉลี่ยจากการรับประทานอาหาร 10.8 กรัมต่อวันต่อคน คิดเป็นปริมาณเกลือโซเดียมที่ได้มากถึง 4,351.69 มิลลิกรัมต่อวันต่อคน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยได้รับเกลือในปริมาณที่มากกว่าปริมาณที่แนะนำต่อวันเกือบ 2 เท่าโดย 8 กรัมของเกลือนั้นมาจากเครื่องปรุงรส ส่วนอีก 2 กรัมของเกลือมาจากแหล่งธรรมชาติ และ 0.8 กรัมของเกลือมาจากอาหารข้างทาง/หาบเร่/อาหารกินเล่น ซึ่งการที่ร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณที่สูงทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากนั้นยังทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายหนา (Left ventricular hypertrophy) และเกิดการสะสมของผังพืดในกล้ามเนื้อหัวใจ และหลอดเลือด และยังมีผลกระทบโดยตรงต่อไต ซึ่งไตเป็นอวัยวะหลักที่ทำหน้าที่กำจัดโซเดียม โดยทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นจากการทำงานหนักและโปรตีนรั่วในปัสสาวะ และความเสื่อมนั้นจะคงอยู่ตลอดไปแม้จะมีการลดปริมาณโซเดียมลงในภายหลัง ซึ่งล้วนแต่มีสาเหตุจากการได้รับเกลือและโซเดียมปริมาณสูง ดังนั้นการลดความดันโลหิตและโปรตีนในปัสสาวะ จะช่วยป้องกันลดการสูญเสียการทำงานของไตและภาวะแทรกซ้อนเป็นบ่อเกิดของโรคหัวใจและหลอดเลือด

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า การลดการบริโภคเค็มจะต้องครอบคลุมไปถึงพระสงฆ์ด้วย โดยที่ผ่านมาอยากให้พุทธศาสนิกชน หันมาใส่ใจในการถวายอาหาร โดยประชาชนทั่วไปที่จะทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ให้ระมัดระวังเรื่องการใส่บาตรพระ โดยเฉพาะอาหารที่จัดถวาย ควรเป็นอาหารที่ปรุงรสให้พอดี ไม่เค็มจัดหรือหวานจัดจนเกินไป โดยอาหารที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษและเป็นอาหารที่นิยมถวายแด่พระสงฆ์ เช่น พวกอาหารแห้ง ประเภท บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำต่าง ๆ หรือรสหมูสับ จะเค็มมาก และก็จำพวกแหนม ปลากระป๋อง ส่วนพวกที่นิยมบริโภคแบบเป็นประจำ ก็จะเป็นแกงเขียวหวาน ไข่พะโล้ พวกผัดต่าง ๆ พวกนี้จะมีความเค็มสูงต้องระมัดระวัง เพราะฉะนั้นหากท่านจะถวายอาหาร ท่านควรจะถวายอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ถ้าเป็นไปได้ควรทำเอง ถือว่าให้พระสงฆ์ได้ฉันท์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ และหวานมันเค็มน้อย ถ้าหากเราถวายอาหารที่มีความเค็มจัดหวานจัดโดยที่เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ จะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพของพระสงฆ์ได้ ดังนั้น เราควรช่วย ๆ กัน หากเป็นไปได้ควรทำอาหารด้วยตนเองหรือไม่ก็บอกแม่ค้าว่าอาหารของพระสงฆ์ควรจะมีรสชาติอ่อน ๆ หรือกำลังพอดี ๆ และไม่หวานไม่เค็มไม่มันจนเกินไป รวมถึงอาหารของเด็กด้วยก็เป็นสิ่งสำคัญ

ทั้งนี้ขอย้ำถึงความสำคัญเกี่ยวกับการบริโภคเกลือ (โซเดียม) ปริมาณมาก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังมีนโยบายให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ลดบริโภคเกลือโซเดียมแห่งชาติ โดยกำหนดเป้าหมายหลักในการพัฒนาลดปัญหาโรควิถีชีวิตที่สำคัญ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดสมอง และไตเรื้อรัง ใน 4 ด้าน คือ ลดการเกิดโรค ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการตาย ลดภาระค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังเพิ่มวิถีชีวิตพอเพียงใน 2 ด้าน คือ การบริโภคที่เหมาะสมและการออกกำลังกายที่เพียงพอ ซึ่งคาดหวังผลลัพธ์ของการพัฒนาว่าจะทำให้ประชาชนมีศักยภาพในการจัดการปัจจัยเสี่ยงและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อโรควิถีชีวิต ด้วยการรวมพลังขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ สมดุล ยั่งยืน และเป็นสุข บนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช