ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เผลผลสำเร็จ“โครงการผ่าตัดตาต้อกระจกเฉลิมพระเกียรติ 80,000 ราย” ดูแลประชาชนอยู่ดีมีสุขตามรอยพระบาทในหลวง รัชกาลที่ ๙ ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา สู่การพัฒนาบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีหน่วยบริการ 327 แห่ง ผ่านเกณฑ์ประเมินผ่าตัดตาต้อกระจกแล้ว ช่วยดูแลผู้ป่วยตาบอดจากต้อกระจกรายใหม่ 6 หมื่นรายต่อปี ลดคิวผู้ป่วยสะสมรอผ่าตัด

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคตาต้อกระจกเป็นปัญหาที่สำคัญโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ โดยแต่ละปีมีผู้สูงอายุราว 60,000 ราย เป็นผู้ป่วยตาบอดจากต้อกระจกรายใหม่และจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา ซึ่งจากการสำรวจก่อนปี 2549 มีผู้ป่วยตาบอดจากต้อกระจก ที่รอรับการผ่าตัดตาต้อกระจกและเปลี่ยนเลนส์ตาสะสมกว่า 120,000 ราย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ทรงห่วงใยพสนิกรชาวไทย สปสช.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จ พระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ. สว.) มูลนิธิโรงพยาบาลนครรมชสีมา มูลนิธิโรงพยาบาลบ้านแพ้ว และจักษุแพทย์ทั่วประเทศ ได้ดำเนินโครงการผ่าตัดตาต้อกระจกเฉลิมพระเกียรติ 80,000 ราย เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยตาบอดหรือสายตาเลือนรางจากเลนส์ตาขุ่นมัวที่รอการผ่าตัดตาต้อกระจก

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการดังกล่าว นอกจากบรรลุเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยตาบอดหรือสายตาเลือนรางจากเลนส์ตาขุ่นมัว สามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่รอคิวผ่าตัดใน รพ.แล้ว ยังก่อให้เกิดการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การพัฒนาการบริหารจัดการผ่าตัดต้อกระจกที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ป่วยตาต้อกระจกเข้าถึงบริการรักษาได้อย่างมีคุณภาพและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

“จากโครงการผ่าตัดตาต้อกระจกเฉลิมพระเกียรติในครั้งนั้น ส่งผลให้ปัจจุบันเกิดการกระจายตัวของจักษุแพทย์และหน่วยบริการที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ทั้งภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันมีหน่วยบริการที่ผ่านการประเมินคุณภาพและมาตรฐานผ่าตัดต้อกระจกรวมทั้งสิ้น 327 แห่ง ช่วยลดการสะสมผู้ป่วยตาต้อกระจกที่รอการผ่าตัดในแต่ละปี เข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง โดยปี 2558-2559 เฉลี่ยมีผู้ป่วยโรคต้อกระจกชนิดบอดและสายตาเลือนรางระดับรุนแรง เข้ารับบริการผ่าตัดประมาณ 89,000 รายต่อปี และในปีงบประมาณ 2561 นี้ ได้กำหนดเป้าหมายผ่าตัดต้อกระจกในผู้ป่วย 120,000 ดวงตา” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ได้ร่วมเดินตามรอยพระบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเพื่อดูแลประชาชนให้อยู่ดีมีสุข ซึ่งโครงการนี้นอกจากช่วยลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยจากตาที่เลือนรางและมองไม่เห็นแล้ว ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันปกติได้