ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย แนะประชาชน ปรับสภาพร่างกายหลังออกเจ กินอาหารย่อยง่าย รสไม่จัด เน้นกินเนื้อปลา ไข่ นม ผัก ผลไม้ เลี่ยงเนื้อวัว เนื้อหมู ปรับร่างกาย ลดปัญหาท้องอืด อาหารไม่ย่อย

นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การกินเจติดต่อกันส่งผลให้ร่างกายมีการปรับระบบการย่อยอาหาร จากที่ย่อยเนื้อสัตว์มาเป็นพืชผักเป็นหลักแทน หลังออกเจต้องกลับมากินอาหารตามปกติ ผู้บริโภคจึงต้องมีการปรับสภาพร่างกายด้วยการกินอาหารอ่อน ย่อยง่าย ประเภทเนื้อปลา ไข่ นม ผักและผลไม้ ให้หลากหลายครบ 5 หมู่ และรสไม่จัด ไม่หวาน มัน เค็ม หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยากประเภท เนื้อวัว เนื้อหมู เนื่องจากระยะแรกร่างกายปรับระบบการย่อยอาหารจากพืชผักมาเป็นเนื้อสัตว์ ซึ่งหากบริโภคอาหารที่ย่อยยากในช่วงแรก อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง และย่อยอาหารได้ไม่ดี

ในช่วงทานเจ ไม่ได้ดื่มนมวัวมาระยะหนึ่ง หรืออาจทานนมถั่วเหลือง แนะนำให้เริ่มดื่มนมวัวครั้งละน้อย ประมาณครึ่งแก้ว และสามารถเพิ่มเป็นครั้งละหนึ่งแก้วได้ในเวลาประมาณ 1–2 สัปดาห์ หรือดื่มนมหลังอาหารขณะที่ท้องไม่ว่าง หรือกินผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการย่อยน้ำตาลแลกโตสบางส่วนโดยจุลินทรีย์ เช่น ผลิตภัณฑ์โยเกิร์ต แต่หลังจากที่ร่างกายสามารถปรับสภาพการย่อยอาหารสู่ภาวะเดิม ก็สามารถกินอาหารได้ตามปกติ และทางที่ดีควรกินอาหารที่ปรุงสะอาด ปลอดภัย และได้คุณค่าโภชนาการครบ 5 หมู่

“ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถควบคุมอาหารเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับพลังงานเกินความจำเป็น กินอาหารให้ครบ 3 มื้อ ให้หลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสม ควบคุมข้าว-แป้ง เลือกกินข้าวกล้องเป็นหลัก ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อปลา ไข่ เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ ถั่วเมล็ดแห้ง ดื่มนมเป็นประจำ เน้นกินผักให้มาก กินผลไม้ให้เหมาะสม เพราะผักและผลไม้อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส โฟเลท และใยอาหารสูง ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพในการป้องกันโรค ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ชะลอการดูดซึมน้ำตาลในเลือด กระตุ้นการขับถ่าย และเพิ่มภูมิต้านทานโรค ที่สำคัญต้องลดอาหารหวานมันเค็ม ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว