ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โปลิโอเป็นโรคติดต่อที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่เด็กเป็นจำนวนมากทั้งความพิการและการสูญเสียชีวิต โรคโปลิโอหรือโรคไข้ไขสันหลังอักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสและมักเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากยังไม่มีภูมิต้านทานหรือมีแต่ไม่สูงมากพอ ผู้ที่เป็นโรคโปลิโอจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นอัมพาตที่มีอาการรุนแรง และมีผลต่อการดำเนินชีวิตในระยะยาว

ในช่วงที่มีการระบาดของโปลิโอทั่วโลก เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความร้ายแรงของโรคโปลิโอที่ระบาดในเด็ก องค์การอนามัยโลกจึงให้ความสำคัญอย่างมากในการกวาดล้างโปลิโอให้หมดไป เมื่อมีการค้นพบวัคซีนป้องกันโรคนี้ได้ จึงได้มีการกำหนดเป้าหมายระดับสากลเพื่อกวาดล้างโปลิโอ เมื่อปี พ.ศ.2533

ย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่โรคโปลิโอระบาดในประเทศไทย สถานการณ์การกวาดล้างโปลิโอในทศวรรษ 2530 ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายนักเพราะมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำคัญ

ประการแรกคือ ผู้ติดเชื้อโปลิโอส่วนใหญ่ร้อยละ 90-95 ไม่แสดงอาการป่วย หรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นในประเทศที่มีสุขาภิบาลไม่ดีและความครอบคลุมของการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคไม่ทั่วถึงจะมีการแพร่กระจายของเชื้ออยู่ทั่วไป ซึ่งการเฝ้าระวังโรคโดยปกติไม่อาจจะบอกได้

ประการที่สอง การเดินทางติดต่อระหว่างประเทศมีอยู่อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ทั้งการอพยพหลบภัยสงครามเป็นโอกาสให้เชื้อโปลิโอแพร่กระจายระหว่างประเทศได้ง่าย ดังนั้น แม้ประเทศที่ควบคุมโรคได้ดีหรือปลอดจากโปลิโอแล้ว ก็จะยังไม่ปลอดภัยโดยสิ้นเชิง ถ้าประเทศอื่นๆ ยังคงมีโรคนี้อยู่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช ผู้นำการต่อต้านโปลิโอในไทย

กล่าวได้ว่า การรณรงค์เพื่อป้องกันและควบคุมโรคโปลิโอเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเป็นการดำเนินตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกล่าวคือ ได้ทรงเป็นผู้นำในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคโปลิโอ เมื่อมีการระบาดขึ้นในประเทศไทย ในปี พ.ศ.2495 โดยได้ทรงริเริ่มก่อตั้งกองทุน “โปลิโอสงเคราะห์” ขึ้นเพื่อสงเคราะห์ผู้ป่วยด้วยโรคโปลิโอ และเพื่อใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตลอดจนค้นคว้าทางวิชาการเพื่อป้องกันและบำบัดโรคนี้

ต่อมายังช่วยให้เกิดโครงการ “วชิราลงกรณ์ธาราบำบัด” ขึ้นที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้โรงพยาบาลศิริราชจัดตั้งสถานรักษาพยาบาลผู้ป่วยโปลิโออีกแห่งหนึ่ง นอกจากที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าแล้ว

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชปฏิสันถารกับเด็กหญิงผู้ป่วยเป็นโรคโปลิโอที่สวมเหล็กช่วยพยุงขา

ในสมัยนั้น หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษสแตนดาร์ดรายสัปดาห์ ได้พาดหัวเรื่องการรณรงค์ต่อต้านโปลิโอ โดยลงพระบรมฉายาลักษณ์เสด็จพระราชดำเนินฯ ทรงเยี่ยมเด็กป่วยและพิการจากโรคโปลิโอ ซึ่งระบาดในประเทศไทยช่วงปลายปี พ.ศ. 2495 อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ทางการได้ประกาศให้โปลิโอเป็นโรคติดต่อต้องแจ้งความตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2495

การรณรงค์สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโปลิโอในประเทศไทย

ประเทศไทยได้เริ่มบรรจุเป้าหมายการกวาดล้างโปลิโอไว้ในแผนพัฒนาสาธารณสุข ฉบับที่ 6 โดยกำหนดให้โรคโปลิโอปลอดทุกพื้นที่ภายในปี พ.ศ. 2534 และได้กำหนดเป้าหมายดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงแผนพัฒนาสาธารณสุขฉบับที่ 7 ซึ่งคาดว่าจะไม่มีผู้ป่วยโปลิโอที่เป็นอัมพาตจากเชื้อโปลิโอที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมภายในปี พ.ศ. 2539

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2533 ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคนี้ใน 7 จังหวัดภาคใต้โดยทั่วถึง แม้ในภาคอื่นๆ จำนวนผู้ป่วยโปลิโอก็ลดลงอย่างมากมาย ตั้งแต่ต้นแผนพัฒนาการสาธารณสุขแห่งชาติฉบับที่ 7 กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการตามกลวิธีกวาดล้างโปลิโอที่ได้ผลในการกวาดล้างโปลิโอทั่วโลก ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

กล่าวคือ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะให้วัคซีนโปลิโอครอบคลุมเด็กทุกคน ได้เริ่มต้นจัดตั้งระบบเฝ้าระวัง AFP ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และขยายขอบเขตให้ครอบคลุมโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง รวมถึงสถานีอนามัยและสถานบริการภาคเอกชน การสอบสวนโรคและการให้วัคซีนครอบคลุมการระบาด (Mop-up vaccination)ได้ปฏิบัติควบคู่ไปกับการเฝ้าระวัง AFP กระทั่งกระทรวงสาธารณสุขเริ่มโครงการรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอแก่เด็กทั่วประเทศ (NID) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537และดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ. 2539

การรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอแก่เด็กทั่วประเทศในปี พ.ศ.2537 และ 2538 ได้ความครอบคลุมของวัคซีนโปลิโอในเด็กที่เป็นประชากรเป้าหมายสูงกว่าร้อยละ 90 นับเป็นการเริ่มต้นที่ได้ผลดี เป็นที่น่าพอใจ เป็นผลให้เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ที่พลาดวัคซีนในขวบปีแรกซึ่งมีอยู่รวมกันเป็นจำนวนหลายล้านคนทั่วประเทศ ได้รับภูมิต้านทานในระดับที่จะป้องกันโรคได้ระยะหนึ่ง และได้กระตุ้นภูมิต้านทานให้แก่เด็กที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้ว ให้อยู่ในระดับสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมั่นใจ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเด็กที่พลาดวัคซีนในการรณรงค์ในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นเด็กกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ได้แก่ เด็กในกลุ่มผู้ยากจนในเขตเมือง บุตรหลานของผู้ใช้แรงงานที่เคลื่อนย้ายหางานทำทั้งในเมืองและชนบท เด็กในชนบทตามถิ่นทุรกันดาร รวมถึงเด็กในชนกลุ่มน้อยพื้นที่สูงและเขตชายแดน

สำหรับในปี พ.ศ.2539 เพื่อให้การกระตุ้นเสริมภูมิคุ้มกันแก่เด็กครอบคลุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้เน้นให้บริการแก่เด็กกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เน้นการเตรียมชุมชนโดยให้สุขศึกษา ประชาสัมพันธ์แก่ประชาชน เน้นการเตรียมข้อมูลการวางแผนที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการกวาดล้างโปลิโอให้หมดไปจากประเทศไทย

ปัจจุบัน ประเทศไทยไม่พบโรคโปลิโอมาแล้วกว่า 14 ปี แต่รายงานของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่ายังอยู่ในสถานะเสี่ยงเนื่องจากพบการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านและปัญหาเด็กต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง ซึ่งส่งผลให้ยังมีความจำเป็นต้องรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอแก่เด็กไทยต่อเนื่องทุกปี

เก็บความจาก

กรมควบคุมโรค (2539). แนวทางการดำเนินงานโครงการรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอแก่เด็กพร้อมกันทั่วประเทศ 2539. (เอกสารอัดสำเนาออนไลน์) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.สืบค้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2560