ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส และไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ แก้ปวด ลดไข้ ใช้รักษาเฉพาะโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เช่น ทอนซิลอักเสบเป็นหนอง แต่คนส่วนใหญ่มักเรียกยาปฏิชีวนะผิดว่าเป็น “ยาแก้อักเสบ” ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าการใช้ยานี้จะทำให้โรคที่เป็นอยู่หายเร็วขึ้นเพราะยาจะไปรักษาหรือแก้การอักเสบซึ่งถือเป็นความเข้าใจผิด ในขณะที่ ยาแก้อักเสบ หรือ ยาต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory drugs) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดไข้ บรรเทาปวด ลดบวมแดง เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ซึ่งไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

ดังนั้น ถ้ากินยาปฏิชีวนะเข้าไปเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นยาแก้อักเสบ ทั้งที่ความจริงเป็นยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยาก็ไม่ได้ฆ่าเชื้อไวรัส นอกจากไม่เกิดประโยชน์ในการรักษาการอักเสบที่เกิดขึ้นยังจะทำให้เชื้อโรคดื้อยาได้มากขึ้น

สถานการณ์การใช้ยาปฏิชีวนะ

จากข้อมูลพบว่ามูลค่าการผลิตนำเข้าของยาฆ่าเชื้อ (รวมถึงยาปฏิชีวนะ) สูงเป็นอันดับหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ในปี 2550 มูลค่าการผลิตและนำเข้ายากลุ่มนี้สูงถึง 2 หมื่นล้านบาท หรือ ประมาณ 1 ใน 5 ของมูลค่ายาทั้งหมด พบคนในต่างจังหวัดใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคหวัดคิดเป็นร้อยละ 40-60 และสูงถึงร้อยละ 70-80 ในกรุงเทพฯ ในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมสูงถึงร้อยละ 25-91 มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ ประจำปี 2549 พบว่า จำนวน ADR ที่เกิดจากการใช้ยาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชีวนะสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ (คิดเป็นร้อยละ 54 ของอาการ ADR ที่เกิดขึ้นของยาทุกชนิดรวมกัน) มีอัตราเชื้อดื้อยาของประเทศไทยเพิ่มสูงถึงร้อยละ 25-50 และพบว่า อัตราการเกิดเชื้อดื้อยามีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการใช้ยาปฏิชีวนะ

อันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ

เกิดการแพ้ยา ซึ่งหากแพ้ไม่มากอาจมีแค่ผื่นคัน ถ้ารุนแรงขึ้นผิวหนังจะเป็นรอยไหม้ หลุดลอก หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต

เกิดเชื้อดื้อยา การกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อกระตุ้นให้เชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยา ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะที่ใหม่ขึ้น แพงขึ้น ซึ่งเหลือให้ใช้อยู่ไม่กี่ชนิด สุดท้ายก็จะไม่มียารักษา และเสียชีวิตในที่สุด

เกิดโรคแทรกซ้อน ยาปฏิชีวนะจะฆ่าทั้งแบคทีเรียก่อโรคและแบคทีเรียชนิดดีมีประโยชน์ในลำไส้ของเรา เมื่อแบคทีเรียชนิดดีตายไป เชื้ออื่นๆ ในตัวเราจึงฉวยโอกาสเติบโตมากขึ้น ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ลำไส้อักเสบอย่างรุนแรง โดยผนังลำไส้ถูกทำลายหลุดลอกมากับอุจจาระ ซึ่งอันตรายถึงชีวิต

ด้วยเหตุนี้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าวแล้ว วิธีที่ดีและปลอดภัยที่สุด คือ ให้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร อย่างเคร่งครัดและทุกครั้งที่ได้รับยาปฏิชีวนะมาต้องรับประทานให้ครบ เพราะบ่อยครั้งพบว่าผู้ป่วยหยุดใช้ยาเมื่ออาการดีขึ้น ซึ่งจะมีผลเสียอาจทำให้โรคกลับเป็นซ้ำหรือเกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ยังรักษาไม่หายดี

ทั้งนี้จากข้อมูล พบว่าการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผลพบได้ทั้งในกลุ่มผู้ใช้ยาและผู้สั่งจ่าย ทั้งในสถานพยาบาลและร้านยา โดยเฉพาะในโรคหวัดที่พบว่า ประชาชนเกินกว่าครึ่งที่ใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม เป็นการเพิ่มโอกาสของการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย เพิ่มค่าใช้จ่ายค่ายาโดยไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย และอาจทำให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ คือ การแพ้ยาปฏิชีวนะ ที่พบได้บ่อยที่สุดของรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา

อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดการติดเชื้อดื้อยา ร้านยาเป็นด่านแรกของระบบสุขภาพ เมื่อประชาชนเจ็บป่วยเล็กน้อย จะไปขอคำปรึกษา และแนะนำยาเพื่อการดูแลรักษาปัญหาดังกล่าว มีทั้งปรึกษาอาการเจ็บป่วย ปรึกษาเรื่องการใช้ยา และมาเรียกหายา ซึ่งในจำนวนนี้ยังมีการจ่ายยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมเป็นจำนวนมาก กล่าวได้ว่าสาเหตุมาจากความเชื่อ ความรู้ และพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพด้วยตนเองของประชาชน ตลอดจนความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ของเภสัชกรร้านยาผู้ให้บริการ ที่จะต้องก้าวทันความรู้ทางด้านเภสัชศาสตร์ที่ทันสมัย

ด้วยเหตุนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลจึงควรเริ่มที่ตัวผู้ใช้ยา และร้านยาตระหนักถึงโทษภัยจากการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะใน 3 โรคติดเชื้อที่พบบ่อยในร้านยา ได้แก่ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคท้องเสีย และแผล ดังเช่นที่สมาคมเภสัชกรรมชุมชน ร่วมกับ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จัดทำโครงการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในร้านยาขึ้น เพื่อเพิ่มการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมในร้านยา และลดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม เพื่อให้บริการทางเภสัชกรรมที่ดีมีคุณภาพ และยังประโยชน์ต่อประชาชนผู้รับบริการในร้านยา

เช่นเดียวกับการดำเนินงานของโครงการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล (Antibiotics Smart Use Program) ที่ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมกับภาคีหลายหน่วยงาน ในการพัฒนาต้นแบบการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในโรงพยาบาลชุมชน ทั้งในเรื่องการให้ความรู้ การปรับความเชื่อ และการเสริมสร้างความมั่นใจ การบริหารจัดการ เช่น การใช้ยาทดแทน การเปลี่ยนมาใช้ไฟฉายแสงขาว ตลอดจนการกำหนดเป็นนโยบายและผนวกเข้ากับงานประจำของโรงพยาบาลชุมชน

เก็บความจาก

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.เรื่องเด่นประจำปี/การบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม.รู้หรือไม่!? ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบ.

สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ(2555) . รายงานโครงการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในร้านยาปี พ.ศ. 2555. สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.).

โครงการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล Antibiotics Smart Use

เรื่องที่เกี่ยวข้อง