ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 31 ต.ค.60 เว็บไซต์เดอะการ์เดียนได้รายงานข่าว ประธานสมาคมแพทย์ออสเตรเลียชี้ว่า ชาวออสเตรเลียกำลังซื้อประกันสุขภาพที่ “ไร้ค่า”

นพ.ไมเคิล แกนนอน (Michael Gannon) จี้บริษัทประกันอธิบายความคุ้มครองของประกันสุขภาพให้ผู้บริโภคสามารถเข้าใจได้ง่าย

เดอะการ์เดียนรายงานว่า นพ.แกนนอน ประธานสมาคมแพทย์ออสเตรเลีย (Australian Medical Association: AMA) ชี้ว่า ชาวออสเตรเลียกำลังซื้อประกันสุขภาพที่ “ไร้ค่า” อีกทั้งรายละเอียดของประกันสุขภาพก็ยากเกินกว่าที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าใจ พร้อมกันนี้ยังได้ตำหนิกลุ่มธุรกิจประกันสุขภาพที่จ้องขึ้นค่าเบี้ยประกันเพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้นขณะที่ลดทางเลือกของผู้ป่วยโดย “จำกัดความคุ้มครองจากประกันสุขภาพ”

นพ.แกนนอนยืนยันในที่ประชุมกรรมาธิการว่า ค่ารักษาพยาบาลไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้ผู้ป่วยซึ่งมีประกันสุขภาพต้องเสียส่วนต่างค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น โดยชี้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าใจดีว่าตนเองอาจต้องจ่ายส่วนต่างค่ารักษาพยาบาล แต่ทว่าประกันที่ผู้บริโภคซื้อไว้กลับไม่คุ้มครองบริการรักษาพยาบาลที่คาดหวังและกลายเป็นผลิตภัณฑ์ “ไร้ค่า”

“หากประกันมีนโยบายเพียงแค่ลดภาษีแล้วจะไม่ถือว่าเป็นของไร้ประโยชน์ได้อย่างไรล่ะครับ” นพ.แกนนอน กล่าว

เขายังได้เรียกร้องให้หาสาเหตุที่ทำให้บริษัทประกันต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้น โดยชี้ว่า ค่าเบี้ยประกันที่พุ่งสูงขึ้นนั้นมีสาเหตุจากนโยบายแสวงหากำไรซึ่งทำให้บริษัทต้องหาทางระดมเงินเพื่อที่จะมีกำไรตอบแทนผู้ถือหุ้น และว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันในลักษณะนี้จะนำออสเตรเลียไปสู่ระบบสุขภาพบนพื้นฐานของผลกำไรดังเช่นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทประกันอาจไม่คุ้มครองบริการรักษาพยาบาลหากมองว่าโรงพยาบาลไม่สามารถตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจของตนได้

“นโยบายลักษณะนี้จะทำให้ทางเลือกจากประกันสุขภาพส่วนบุคคลแคบลงครับ” เขากล่าว

นพ.แกนนอน ชี้ด้วยว่า บริษัทประกันพยายามโน้มน้าวให้รัฐบาลเชื่อว่าตนสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยการจำกัดบริการที่ให้ความคุ้มครอง ซึ่งมักเป็นบริการที่มีค่าใช้จ่ายต่ำและ AMA เองก็ไม่ได้สนับสนุน

“บริษัทประกันไม่ควรเป็นผู้ตัดสินใจว่าหัตถการใดที่ควรได้รับการอุดหนุน” เขากล่าว “บริษัทประกันไม่ควรแทรกแซงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ครับ”

นพ.แกนนอน กล่าวว่าการที่บริษัทประกันพยายามลดรายจ่ายสุขภาพนั้น กลายเป็นการสร้างอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย

“ก็ผู้ป่วยกลุ่มนี้ล่ะครับที่ยอมจ่ายค่าเบี้ยประกันราคาแพงเพราะหวังจะได้รับความคุ้มครองสูงสุด”

นพ.แกนนอน ยังได้ยกตัวอย่างหญิงชราซึ่งบริษัทประกันบอกว่าจะได้รับความคุ้มครองค่าผ่าตัด แต่เมื่อถึงคราวต้องผ่าตัดจริงกลับกลายเป็นว่าบริษัทประกันไม่คุ้มครองค่าผ่าตัด “ผู้ป่วยต้องจ่ายส่วนต่างถึง 7,000 ดอลลาร์เชียวครับ”

แปลและเรียบเรียงจาก Australians buying 'useless' health insurance, AMA head says: www.theguardian.com