ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มีประเด็นในร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สังคมควรมีส่วนร่วมถกเถียงว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง การจัดยาและการจ่ายยา

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นตั้งแต่ 11 ตุลาคม - 11 พฤศจิกายน 2560 ทางออนไลน์ https://tmc.or.th/Regulation/ ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ที่บังคับมากว่า 30 ปีแล้ว

การปรับปรุงครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ เพื่อให้มีการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม และเพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชน นับว่าเป็นเจตนารมณ์ที่ดี

ร่าง พ.ร.บ.นี้มีปัญหาอะไรที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีประเด็นที่น่าจะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการคุ้มครองประชาชน นั่นคือ มาตรา 3 มีการแก้ไขนิยามของคำว่า “วิชาชีพเวชกรรม” โดยเพิ่มคำใหม่ว่า “บริบาลเวชกรรม”

และ นิยามคำว่า “บริบาลเวชกรรม” ในมาตรา 4 ให้มีความหมายที่ครอบคลุมเรื่องการจัดและการจ่ายยา ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักสากลระหว่างการประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และเภสัชกรรม

หลักสากล คือ การแยกบทบาทกัน ให้แพทย์มีหน้าที่ในการตรวจวินิจฉัยและสั่งใช้ยา ในขณะที่เภสัชกรมีหน้าที่จัดและจ่ายยาตามใบสั่งยา ซึ่งจะเป็นการสร้างสมดุล และความร่วมมือระหว่างวิชาชีพ ในการคุ้มครองความปลอดภัยด้านยาแก่ประชาชน ที่ไม่มีความรู้ในยาที่ตนเองได้รับ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่

เพราะเหตุใด จึงควรกำหนดให้แพทย์และเภสัชกร ทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระต่อกัน ?

ความผิดพลาดของคน ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ แม้โดยไม่ได้ตั้งใจ ข้อผิดพลาดเกี่ยวกับการสั่งจ่ายยาจึงเป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ และข้อผิดพลาดในการใช้ยาดังกล่าวอาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยที่สำคัญและทำให้เสียชีวิตได้ (http://bit.ly/2lDHCkA) การวิจัยที่ผ่านมาในต่างประเทศ พบความผิดพลาดในการสั่งจ่ายยาอยู่ระหว่างร้อยละ 7-35 (http://bit.ly/2z4V0S3)

แต่เราสามารถออกแบบระบบเพื่อป้องกัน หรือ ลดข้อผิดพลาดนั้นได้ โดยการมีระบบตรวจสอบและป้องกันที่ดี (http://bit.ly/2zg74ll) นั่นคือ การออกแบบระบบให้มีการแยกบทบาทของแพทย์และเภสัชกร

การออกกฎหมายให้มีการแยกบทบาทของแพทย์และเภสัชกร จะเป็นระบบที่ช่วยกันดูแลการใช้ยาของผู้ป่วย จะช่วยลดความเสี่ยงจากข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วย

ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับระบบการประกันคุณภาพการรักษาและการเพิ่มความปลอดภัยด้านยาแก่ผู้ป่วย เป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจาก ความซับซ้อนด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นของการรักษาด้วยยาในปัจจุบัน และตอกย้ำถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์และเภสัชกร

ดังนั้นจึงควรตัดประเด็นการจัดและการจ่ายยาในนิยามบริบาลเวชกรรมออก

ผู้เขียน : รศ.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์