ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขตั้งศูนย์ปฏิบัติการยุติวัณโรคระดับจังหวัดเน้นการดูแลเข้มรายบุคคล โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ให้มีอัตราความสำเร็จการรักษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ลดอัตราอุบัติการณ์วัณโรคของไทยให้เหลือ 88 ต่อประชากร 100,000 คน สิ้นปี พ.ศ. 2564

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมการประชุมรัฐมนตรีระดับโลกเรื่อง "ยุติวัณโรคเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (The Global Ministerial Conference “Ending TB in the Sustainable Development Era : A Multisectoral Response”) ระหว่างวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2560 ที่กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย เพื่อให้ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกเร่งรัดการใช้ยุทธศาสตร์ยุติวัณโรคอย่างครอบคลุม รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยีด้านต่างๆ และสร้างเครือข่ายการทำงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านวัณโรคขององค์กรต่างๆ ตลอดจนติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาวัณโรคของแต่ละประเทศ ให้สอดคล้องตามทิศทางยุทธศาสตร์การยุติวัณโรค และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยังยืน ให้บรรลุเป้าหมายลดอุบัติการณ์วัณโรคให้ต่ำกว่า 10 ต่อแสนประชากรโลกภายในปี พ.ศ. 2578 ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด

สำหรับประเทศไทยข้อมูลล่าสุดปี 2560 มีผู้ป่วยวัณโรค ขึ้นทะเบียนรักษา 67,193 ราย คิดเป็นอัตราความครอบคลุมการรักษาวัณโรคเพียงร้อยละ 59.4 เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกจังหวัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการยุติวัณโรค โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ โดยจะเน้นที่การดูแลรักษาอย่างเข้มข้นเป็นรายบุคคลด้วยแนวทางการดูแลผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางให้มีอัตราความสำเร็จการรักษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา

นอกจากนี้จะต้องดำเนินการเร่งรัดการค้นหา วินิจฉัย พร้อมทั้งเร่งรัดการเข้าถึงบริการตรวจวินิจฉัยในกลุ่มเสี่ยงวัณโรค 6 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน และบุคลากรสาธารณสุขให้ครอบคลุมร้อยละ 90 เพื่อลดอัตราอุบัติการณ์ของวัณโรคในประเทศไทยให้เหลือ 88 ต่อประชากร 100,000 คน สิ้นปี พ.ศ. 2564