ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.ภูเขียวเฉลิมพระเกียรติ จ.ชัยภูมิ ยึดประชาชนเป็นฐาน สะท้อนข้อมูลสู่การพัฒนาบริการ ตั้งทุกพื้นที่เป็นด่านหน้าเข้าถึงคนไข้ ปั้น 9 คุณลักษณะดีให้เจ้าหน้าที่ หยิบยื่นความเป็นธรรมให้ประชาชนโดยที่ไม่จำเป็นต้องร้องขอ

นพ.สุภาพ สำราญวงษ์

นพ.สุภาพ สำราญวงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูเขียวเฉลิมพระเกียรติ จ.ชัยภูมิ กล่าวในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “Best Practice” How to ; จากศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพสู่มาตรฐานความปลอดภัยของหน่วยบริการ ซึ่งอยู่ภายในงานการสัมมนาเครือข่ายคุณภาพและความปลอดภัยในระบบบริการ ประจำปี 2561 ซึ่งจัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2560 ตอนหนึ่งว่า ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องมีให้กับประชาชน เพราะจะทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการได้ง่าย ส่วนตัวเชื่อว่าคุณภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับการประเมินผลจากประชาชน คือเมื่อประชาชนเข้าถึงการบริการแล้วเกิดข้อร้องเรียนความไม่สบายใจ โรงพยาบาลก็จะรับทราบและนำเรื่องเหล่านี้มาแก้ไข ที่สุดแล้วงานบริการก็จะได้รับการพัฒนาและนำไปสู่การมีคุณภาพในการให้บริการได้

“ถ้าเราให้บริการอย่างมีคุณภาพ ประชาชนก็จะมีสุขภาพดีและมีความสุข เมื่อประชาชนมีความสุขเจ้าหน้าที่ก็มีความสุขด้วย ซึ่งก็จะทำให้ระบบสุขภาพมีความยั่งยืนและทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้” นพ.สุภาพ กล่าว

นพ.สุภาพ กล่าวถึงการจัดการสถานที่ว่า ทุกตารางนิ้วของโรงพยาบาลต้องเป็นด่านหน้า คือหากประชาชนมีข้อร้องเรียนใดๆ ต้องสามารถพบเจ้าหน้าที่ได้ทันที และเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องเป็นเจ้าหน้าที่ประชาชสัมพันธ์ของโรงพยาบาลได้ โดยมีศูนย์บัญชาการอยู่ที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ มีป้ายแสดงชัดเจนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย สามารถขอความช่วยเหลือหรือร้องเรียนได้

สำหรับมาตรฐานของบุคลากรนั้นจำเป็นต้องมีความรู้มีความสามารถและมีความเพียงพอ ที่สำคัญคือต้องมีลักษณะ 9 ประการ หรือนพลักษณ์ ได้แก่ รอบรู้ คิดดี วจีสัมพันธ์ ปฏิภาณว่องไว ยิ้มใส อดทน กระตือรือร้น จริงใจ อนามัยสมบูรณ์ และที่สำคัญที่สุดคือต้องมีค่านิยมองค์กร MOPH และต้องมีจิตใจที่ยินดีให้บริการประชาชน

นพ.สุภาพ กล่าวถึงการบริหารจัดการระบบข้อมูลของโรงพยาบาลภูเขียวฯ ว่า ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหา ฉะนั้นการรับข้อมูลต้องทำอย่างรอบด้าน คือทั้งจากเจ้าหน้าที่ ประชาชน เครือข่ายวิชาชีพ คนทำงานระดับพื้นที่ รวมถึงการทบทวนเวชระเบียน ฯลฯ จากนั้นเราก็เปลี่อนจาก data เป็น information และวิเคราะห์สังเคราะห์เปลี่ยนเป็น knowledgeเพื่อสร้างระบบในการแก้ไขปัญหา

ในส่วนของการทำงานเชิงรุกของโรงพยาบาลภูเขียวฯ โจทย์คือเราจะสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าถ้าองค์กรดี ทำงานมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลประชาชนได้ เรื่องเครือข่ายต่างๆ ที่จะเข้ามาร่วมทำงานด้วยก็จะหาไม่ยาก ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือต้องตั้งต้นจากองค์กรและภาพลักษณ์ที่ดี เป็นที่พึ่งพาของประชาชนได้จริง และเมื่อมาทำงานร่วมกันแล้วก็ใช้หลักเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา คือต้องเริ่มจากที่ตัวเราต้องเข้าใจ และเข้าถึง ตัวของเครือข่ายก่อน สำหรับการจัดการกระบวนการนั้น คีย์เวิร์ดคือหลักความเป็นธรรมเป็นสิ่งที่ต้องหยิบยื่นให้กันโดยไม่ต้องร้องขอ เมื่อทุกคนเข้าใจในเรื่องนี้ทุกคนก็จะมีความสุขในการทำงาน