ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมออนามัย” พ้อ ร่างกฎหมาย PCC ซ้ำเติมเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ทำเหลื่อมล้ำเพิ่ม เผยเน้นความสำคัญแต่แพทย์ พร้อมให้สิทธิพิเศษและค่าตอบแทนเพียบ อ้างทำตาม รธน. เมินสหวิชาชีพร่วมปฏิบัติงานพื้นที่แต่แรกเริ่ม หวั่น "เสร็จนา ฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล" พร้อมย้ำไม่คัดค้านออกกฎหมายเพื่อประชาชนแต่ต้องเป็นธรรม

นายริซกี สาร๊ะ

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) หรือ ชวส. และผู้ประสานงานชมรม ผอ.รพ.สต (ประเทศไทย) กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อยู่ระหว่างการผลักดัน พ.ร.บ.การแพทย์ปฐมภูมิและบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... (Primary Care Center : PCC) ซึ่งชมรมนักวิชาการสาธารณสุขและเครือข่ายหมออนามัยต่างกังวล เนื่องจากระบบบริการปฐมภูมิมีสหวิชาชีพหลากหลายสาขาร่วมดูแลสุขภาพประชาชน ทั้งนักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข (จพ.สธ.) พยาบาลวิชาชีพ แพทย์แผนไทย ทันตาภิบาล เป็นต้น ซึ่งเดิมสหวิชาชีพเหล่านี้ต่างทำงานในพื้นที่ตามบทบาทหน้าที่อยู่แล้ว แต่กฎหมายฉบับนี้กลับกำหนดความสำคัญให้กับวิชาชีพเดียวมากเป็นพิเศษ คือแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โดยมีแนวโน้มที่จะออกระเบียบข้อบังคับหรือออกกฎหมายลูกที่ให้สิทธิประโยชน์ ความก้าวหน้า และค่าตอบแทนแพทย์ในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมมาก โเยเฉพาะในประเด็นค่าตอบแทน PCC ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขให้ถ่างกว้างมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากปัญหาค่าตอบแทนฉบับต่างๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะค่าตอบแทนฉบับ 10, 11 และ 12 ก็ยังพบความเหลื่อมล้ำและมีการตีความกันทีไม่จบไม่สิ้น อีกทั้งยังมีความแตกต่างของค่าตอบแทนระหว่างวิชาชีพที่มากอยู่แล้ว แต่เมื่อมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาเพิ่มเติมอีกจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาค่าตอบแทน และสิทธิสวัสดิการระหว่างวิชาชีพให้มากขึ้นกว่าเดิม

“ที่ผ่านมาผู้ปฏิบัติงาน รพ.สต. อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น ขาดคนเงินของอย่างไรก็ขาดอยู่แบบนั้น แต่เมื่อมีกำหนดให้บางวิชาชีพลงมาทำงานในระดับปฐมภูมิเพิ่ม ซึ่งพยายามกำหนดโดยตัวบทกฎหมาย ทำให้มีแนวโน้มที่สหวิชาชีพที่ปฏิบัติงานอยู่เดิมต้องทำตามและขัดขืนนโยบายไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดตามบทกำหนดโทษ ขณะเดียวกันยังเอื้อสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับบางวิชาชีพที่จะลงปฐมภูมิแบบมากมายเกินพอดี ละเลยวิชาชีพเดิมที่ทำงานปฐมภูมิ ซึ่งมองว่าควรจะกระจายสิทธิประโยชน์ให้ทุกวิชาชีพได้รับจึงจะเหมาะสม”

นายริซกี กล่าวว่า ทราบว่าร่าง พ.ร.บ.การแพทย์ปฐมภูมิและบริการสาธารณสุขฯ พ.ศ….จะมีประชาพิจารณ์ในเดือนธันวาคมนี้ รวมถึงการนำเข้าสู่ ครม.พิจารณาในเร็ววันนี้ ซึ่งการผลักดันกฎหมายฉบับนี้เป็นนโยบายตั้งแต่ท่านปลัด สธ.คนเก่าที่ได้อ้างว่าได้ทำตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ระบุในหมวดปฎิรูปประเทศให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม ทั้งนี้การมีแพทย์ลงไปทำงานในพื้นที่เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ควรเน้นและให้ความสำคัญเกินไปจนกระทั่งลืมวิชาชีพอื่น ตั้งแต่ชื่อกฎหมาย ในรัฐธรรมนูญระบุแค่ว่าต้องมีแพทย์ปฐมภูมิในสัดส่วนที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ในกฏหมายฉบับนี้กลับระบุชื่อกฏหมาย ว่า พ.ร.บ.การแพทย์ปฐมภูมิ ซึ่งสะท้อนว่ากฏหมายฉบับนี้มีการกำหนดว่าระดับปฐมภูมิให้ความสำคัญแต่แพทย์เท่านั้น แม้จะเพิ่มคำว่า บริการสาธารณสุขในชื่อ พ.ร.บ.ในภายหลัง แต่รายละเอียดภายในก็ยังคงให้ความสำคัญเป็นพิเศษแค่วิชาชีพเดียวเช่นเดิม

ทั้งนี้ในโลกโซเชียล หมออนามัยได้มีอภิปรายประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง และมีความเห็นว่าควรใช้ชื่อ “พ.ร.บ.การสาธารณสุขปฐมภูมิ” หรือ “พ.ร.บ.สหวิชาชีพปฐมภูมิ” เพื่อสะท้อนการทำงานร่วมกันระหว่างสหสาขาน่าจะดีกว่า

นอกจากนี้เห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังมุ่งเน้นพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิในเขตเมือง ขณะที่ รพ.สต.ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กันดาร ทำให้ รพ.สต.ส่วนใหญ่ขาดโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาคนเงินของเช่น รพ.สต.ในเมืองบ้างเลย

“ขณะนี้หมออนามัยต่างกังวลว่า จะเป็นเหมือนคำพังเพย "เสร็จนา ฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล" หรือไม่ ซึ่ง สธ.ส่งหมออนามัยมาทำงานในพื้นที่กันดาร อยู่ด่านหน้าอย่างต่อเนื่องเป็นร้อยปี สุดท้ายคนทำงานเป็นร้อยปีกลับไม่ได้สิทธิประโยชน์อะไร แม้ว่าที่ผ่านหมออนามัยได้เรียกร้องสิทธิ สวัสดิการ ความก้าวหน้ามาหลายปี แต่ สธ.กลับไม่ได้ดูแลเท่าที่ควร บอกแต่เพียงไม่มีคน ไม่มีงบประมาณ แต่พอเพิ่มแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวลงมาในระดับปฐมภูมิ นอกจากจะมีกฎหมายที่คอยกำกับให้แล้ว ยังให้ความก้าวหน้า พร้อมจัดเตรียมงบประมาณและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้อย่างพร้อมสรรพ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมกับวิชาชีพที่ทำงานอยู่เดิม” เลขาธิการ ชวส.กล่าว

นายริซกี กล่าวว่า วันนี้เราไม่ได้คัดค้าน พ.ร.บ.นี้ไม่ให้เกิด เพราะกฎหมายนี้ก็มีส่วนดีอยู่หลายอย่าง แต่อยากทักท้วงให้หันกลับมาดูและพิจารณาให้รอบด้าน ที่สำคัญคือต้องหารือร่วมกับสหวิชาชีพต่างๆ ที่ทำงานระดับปฐมภูมิอยู่เดิมว่ามีความเห็นอย่างไร ควรมีทิศทางพัฒนาอย่างไร โดยเน้นเป้าหมายมองประชาชนเป็นหลัก และต้องครอบคลุมและเหมาะสมกับทุกวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามในการประชาพิจารณ์ พ.ร.บ.การแพทย์ปฐมภูมิฯ ที่ผ่านมา หมออนามัยได้ส่งตัวแทนเข้าไปร่วมให้ความคิดเห็นอยู่บ้าง แต่เท่าที่ประเมินมองว่าการทำประชาพิจารณ์เป็นเพียงแค่การดำเนินตามขั้นตอนให้ครบถ้วนของการออกกฎหมายเท่านั้น โดยมีการตั้งธงไว้อยู่แล้ว ซึ่งชมรมนักวิชาการสาธารณสุขและเครือข่ายหมออนามัยคงต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดว่า ทิศทาง พ.ร.บ.นี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้มีการออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและทุกวิชาชีพที่ทำงานในระดับปฐมภูมิต่อไป