ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เร่งค้นหาและจัดการปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ป่วยเป็นวัณโรค ตั้งเป้าหมายปี 2561 “ลดโรค ลดเสี่ยง” โดยลดอัตราป่วยไม่เกินร้อยละ 5 และลดอัตราป่วยรายใหม่ไม่เกินร้อยละ 1 ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป พบว่ามีบุคลากรป่วยเป็นวัณโรคจำนวน 235 ราย บางโรงพยาบาลมีบุคลากรป่วยเป็นวัณโรครายใหม่สูงถึง 21 ราย

วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2560) ที่โรงแรมพูลแมน จังหวัดขอนแก่น นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการประชุมความร่วมมือในการดูแลสุขภาพบุคลากรทางการแพทย์ ครั้งที่ 10 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 33 ประเทศ ว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (Patient and Personnel Safety: 2P Safety) เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย ได้รับบริการสุขภาพที่ดี และบุคลากรสาธารณสุขปลอดโรค ซึ่งจากการสำรวจของสำนักบริหารการสาธารณสุขในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2560 พบว่ามีบุคลากรป่วยเป็นวัณโรคจำนวน 235 ราย บางโรงพยาบาลมีบุคลากรป่วยเป็นวัณโรครายใหม่สูงถึง 21 ราย รวมทั้งที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโลกที่มอสโคว์ เมื่อพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมาได้มีมติลดการติดวัณโรคในบุคลากรทางการแพทย์

ดังนั้นในปี 2561 กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ตั้งเป้าหมายให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป “ลดโรค” หรือลดอัตราป่วยด้วยวัณโรคในบุคลากรสถานบริการให้ไม่เกินร้อยละ 5 และ “ลดเสี่ยง” หรือลดอัตราป่วยวัณโรครายใหม่ไม่เกินร้อยละ 1

นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า เมื่อบุคลากรป่วยเป็นวัณโรค จะมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน ทั้งความกังวลจะแพร่เชื้อให้ผู้ป่วยและเพื่อนร่วมงาน รู้สึกอับอายที่จะเปิดเผยว่าตนเองติดเชื้อวัณโรคบางรายที่มีอาการป่วยรุนแรง มีอาการแพ้ยา หรือเกิดผลข้างเคียงจากการกินยา ทำให้ต้องหยุดงานเพื่อรักษาตัว จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะค้นหาบุคลากรในสถานบริการที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อหรือป่วยแล้ว เพื่อให้การดูแลอย่างเหมาะสม

สำหรับระบบการดูแลบุคลากรสถานบริการ มี 4 มาตรการ คือ

1.การขับเคลื่อนนโยบายลดการติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มบุคลากรสถานบริการทุกระดับ

2.“Smart Detect” การประเมินความเสี่ยงและคัดกรองบุคลากรกลุ่มเสี่ยง

3.“Smart Response” การลดความเสี่ยงเพื่อลดการติดเชื้อวัณโรคจากการทำงานของบุคลากร เช่น การจัดระบบระบายอากาศที่เหมาะสม การกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย การใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล การให้การรักษาที่รวดเร็วและเหมาะสม เป็นต้น

และ 4.การสอบสวนและเฝ้าระวังวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง เช่น พยาบาลแผนกอายุรกรรม พยาบาลแผนกผู้ป่วยนอก เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการยุติปัญหาวัณโรค กระทรวงสาธารณสุข มีนโนบายในการค้นหาผู้ป่วยวัณโรค เน้นในกลุ่มเสี่ยง 6 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน และบุคลากรสาธารณสุขให้ครอบคลุมร้อยละ 90 เพื่อลดอัตราป่วยให้เหลือไม่เกิน 88 ต่อประชากร 100,000 คน ภายในปี 2564