ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ทีม สว.กระทุ่มล้ม” โชว์รำไทยประยุกต์ คว้าแชมป์ประกวดการออกกำลังกายผู้สูงอายุ สสส.หนุนผู้สูงวัยมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ 150 นาที/สัปดาห์ พร้อมจัดทำคู่มือ “สูงวัย แจ่มใส แข็งแรง STRONG SMART SENIOR” แนะรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ตั้งเป้าต่อยอด อปท.-ชมรมผู้สูงอายุนำไปขยายผลในพื้นที่

ชนะเลิศ “ทีม สว.กระทุ่มล้ม”

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัด “การประกวดรูปแบบการออกกำลังกายผู้สูงอายุ (รอบชิงชนะเลิศ)” ภายใต้โครงการส่งเสริมการออกกำลังกายและการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ ซึ่งผลการแข่งขันทีมที่ชนะเลิศได้แก่ “ทีม สว.กระทุ่มล้ม” การออกกำลังกายชุด รำไทยประยุกต์ประกอบเพลง จากเทศบาลเมืองกระทุ่มล้ม จ.นครปฐม อันดับ 2 ทีมสาวเหลือน้อย การออกกำลังกายชุด รำไม้พอง ประกอบกลองยาว เทศบาลเมืองหนองปรือ จ.ชลบุรี และอันดับ 3 ทีมสูงวัยใส่ใจรักษ์สุขภาพ เทศบาลนครนนทบุรี จ.นนทบุรี

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า โครงการส่งเสริมการออกกำลังกายและการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ มุ่งเน้นการส่งเสริม สนับสนุนการนำกิจกรรมการออกกำลังกายและการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุ เพื่อพัฒนาและยกระดับพื้นที่ ให้สามารถเป็นพื้นที่ต้นแบบด้านออกกำลังกายและการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ และขยายผลรูปแบบการดำเนินการในพื้นที่ต่าง ๆ และถือเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุโดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม เช่น ชมรมผู้สูงอายที่จะสามารถนำไปขยายผลดำเนินการในระดับพื้นที่ต่อไป

“ผู้สูงวัยเป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพอย่างเหมาะสม ดังนั้นแนวทางการดำเนินงานและผลจากการโครงการนี้จะช่วยสร้างความตระหนักและเป็นต้นแบบให้กลุ่มผู้สูงอายุร่วมกันสร้างสรรค์รูปแบบการออกกำลังกายเพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งผู้สูงอายุควรมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอวันละ 150 วัน/สัปดาห์ เช่น เดิน ลีลาศ ว่ายน้ำ เต้นรำประกอบจังหวะเพลงที่เหมาะสม เป็นต้น” นางภรณี กล่าว

นพ.ฆนัท ครุธกูล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้จัดการโครงการส่งเสริมการออกกำลังกายและการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ กล่าวว่า ทางโครงการฯ ได้จัดทำคู่มือ “สูงวัย แจ่มใส แข็งแรง STRONG SMART SENIOR” เพื่อมุ่งหวังที่จะเห็นผู้สูงอายุมีความสุข ทั้งในทางร่างกาย จิตใจ และสังคม มีคุณภาพชีวิตในทางที่ดีขึ้น และใช้เป็นแนวทางการออกกำลังกาย หรือกิจกรรมที่เหมาะสมกับสุขภาวะผู้สูงอายุ ในระดับพื้นที่ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสำนึกรักสุขภาพในวัยสูงอายุ ซึ่งการดำเนินงานของคณะทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ทำการคัดสรรพื้นที่นำร่องทั้งหมด 8 พื้นที่ ในแต่ละพื้นที่ ได้ผ่านการประชุมสร้างความร่วมมือ อบรมให้ความรู้ด้านการออกกำลังกาย และการประกวดรอบคัดเลือก เพื่อคัดเลือกทีมที่เป็นตัวแทนของพื้นที่ เข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ นำไปสู่การเป็นพื้นที่ต้นแบบในการเผยแพร่รูปแบบของการออกกำลังกายที่ถูกต้อง ปลอดภัย และเหมาะสมกับผู้สูงอายุ โดยการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่

รศ.ดร.รุ่งชัย ชวนไชยะกูล วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การออกกำลังกายเป็นวิธีการหนึ่งในการดูแลสุขภาพที่ดีควบคู่กับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และเมื่อบุคคลมีอายุมากขึ้น ร่างกายย่อมเริ่มมีโรคภัยไข้เจ็บได้ง่ายขึ้น ถ้าเรามีสุขภาพที่ดีจะเป็นการป้องกันโรคที่ดีวิธีหนึ่ง ถึงแม้บางโรคอาจป้องกันไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็เป็นการลดปัญหาที่อาจเกิดจากความเจ็บป่วยนั้นลงได้ ซึ่งวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬาในอนาคต ได้ทำหน้าที่ในการเผยแพร่ความรู้ แนะนำแนวทางการส่งเสริมการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ ต่อไป

ด้านนางณิชกมล พูลเจริญ หรือ อ.อ้อย และหัวหน้าทีม สว.กระทุ่มล้ม คณะกรรมการชมรมผู้สูงอายุเทศบาลเมืองกระทุ่มล้ม เทศบาลเมืองกระทุ่มล้ม จ.นครปฐม กล่าวว่า ได้ประยุกต์การรำไทยและรำวง ประกอบจังหวะแบบไลน์แดนซ์ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกาย โดยการรำไทยและรำวงนับเป็นกิจกรรมทางกายที่ผู้สูงอายุทำได้ง่าย และปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยในชุมชนได้ส่งเสริมการออกกำลังกายด้วยการรำไทยประยุกต์เป็นประจำ สัปดาห์ละ 6 วัน เพื่อส่งเสริมและรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ ใช้เวลาในการออกกำลังกายแต่ละครั้งไม่เกิน 30 นาที โดยมีทั้งการอบอุ่นร่างกาย และการยืดเหยียดประกอบในการออกกำลังกายด้วย ทั้งนี้สุขภาพของผู้สูงอายุในชุมชนดีขึ้นมากและมีความสุข ไร้ซึ่งโรคซึมเศร้า เพราะนอกจากมีผู้สูงอายุที่มาออกกำลังกายแล้ว ยังมีเด็ก เยาวชน และวัยรุ่น มาร่วมออกกำลังกายด้วย ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในชุมชน

สำหรับทีมที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 8 ทีม ได้แก่

1. ทีมสูงวัยใส่ใจรักษ์สุขภาพ ลายน์แดนซ์ ประกอบจังหวะเพลง จากเทศบาลนครนนทบุรี จ.นนทบุรี

2. ทีมสาวเหลือน้อย รำไม้พอง ประกอบกลองยาว จากเทศบาลเมืองหนองปรือ จ.ชลบุรี

3. ทีมแอโรบิก (สวนบุรีรมย์) เต้นแอโรบิกโดยใช้ลูกบอล จากเทศบาลตำบลเสาธงหิน จ.นนทบุรี

4. ทีมผ้าขาวม้า ออกกำลังกายด้วยผ้าขาวม้าบิดเกลียว จาก อบต.บึงน้ำรักษ์ จ.ฉะเชิงเทรา

5. ทีม สว.กระทุ่มล้ม รำไทยประยุกต์ ประกอบเพลง จากเทศบาลเมืองกระทุ่มล้ม จ.นครปฐม

6. ทีมคาวบอยยายชา การเต้นไลน์แดนซ์ ประกอบเพลง จาก อบต.ยายชา จ.นครปฐม

7. ทีมสูงวัยใส่ใจรักษ์สุขภาพ ลายน์แดนซ์ ผ้าขาวม้าบิดเกลียว ตามจังหวะเพลง จาก อบต.หมอนทอง จ.ฉะเชิงเทรา

8. ทีมผ้าขาวม้าพาเพลิน ออกกำลังกายด้วยผ้าขาวม้า ประกอบเพลง จาก อบต.หนองเหียง จ.ชลบุรี

อันดับ 2 ทีมสาวเหลือน้อย