ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.-สสส.-สอจร. ชู “ภูเก็ตโมเดล” ต้นแบบการจัดการความปลอดภัยทางถนนของไทย ลดการตายจากอุบัติเหตุได้ 50% พร้อมโชว์ศักยภาพให้ต่างชาติได้เรียนรู้ เผยเป้าหมายสำเร็จ สสส. ตั้งคณะทำงาน สอจร. บูรณาการทุกหน่วยงานแก้ปัญหาผ่าน 5 เสาหลัก เกาะติดปัญหา แก้ไขตรงจุด เน้น 4 ปัจจัยสำเร็จ บังคับใช้กฎหมายเข้มข้นใช้เทคโนโลยีทุ่นแรง-เครือข่ายสหสาขาวิชาชีพเข้มแข็ง-ระบบรักษาเยียวยาผู้บาดเจ็บ-ผู้นำกวดขันพื้นที่ แก้ไขลดจุดเสี่ยงซ้ำซาก

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ที่ จ.ภูเก็ต นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในพิธีปฐมนิเทศการศึกษาเพื่อการศึกษาดูงาน 3 พื้นที่ต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนของจังหวัดภูเก็ต ว่า อุบัติเหตุทางถนนสร้างความสูญเสียจำนวนมาก ซึ่งการลดความสูญเสียจากการบาดเจ็บทางจราจรเป็นปัญหาและวาระเร่งด่วนที่สำคัญ โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน และผลักดันให้ประเทศสมาชิกเร่งแก้ปัญหาและลดอัตราการเสียชีวิตลงให้ได้ 50% ซึ่งรัฐบาลไทยได้ร่วมประกาศทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ ผ่าน 5 เสาหลัก คือ

1.ด้านบริหารจัดการ

2.ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางถนน

3.ด้านยานพาหนะปลอดภัย

4.ด้านผู้ใช้รถใช้ถนน

และ 5.ด้านการรักษาและเยียวยาหลังเกิดเหตุ

โดยสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของไทย จากฐานข้อมูล 3 แหล่งสำคัญ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อมูลมรณะบัตรและหนังสือรับรองการตาย ของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ในปี 2559 คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งสิ้น 22,356 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 34.4 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน โดย 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย และกลุ่มอายุ 15-29 ปี มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ทุกปีมีผู้พิการรายใหม่จากเหยื่ออุบัติเหตุ 5,000 คน ในทุกวันมี 42 ครอบครัวสูญเสียสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว และในทุกวันยังมีอีก 15 ครอบครัวที่ต้องดูแลสมาชิกพิการจากอุบัติเหตุไปตลอดชีวิต ความสูญเสียเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุข ทั้งการทุ่มงบประมาณและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข สร้างความเสียหายเศรษฐกิจโดยรวมกว่าสองแสนล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ปัญหาอุบัติเหตุจราจรเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ หากดำเนินให้การแก้ไขปัญหาได้เร็วจะลดความสูญเสียเหล่านี้ลงได้ ที่สำคัญประเทศไทยจะหลุดจากอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรสูงที่สุดในโลกได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย สสส. ได้สนับสนุนการทำงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ปี 2546 สนับสนุนข้อมูลวิชาการเพื่อนำไปสู่การเสนอนโยบายสาธารณะ สร้างเครือข่ายประชาคมทำงานกับชุมชน และรณรงค์สังคมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีไม่ใช่แค่เฉพาะเทศกาลสำคัญเท่านั้น สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของ จ.ภูเก็ต ซึ่งเคยติดอันดับมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นลำดับ 1 ใน 5 ของประเทศเมื่อปี 2540-2549 ด้วยการทำงานที่เข้มแข็งโดย สสส.สนับสนุนการทำงานผ่าน “คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด” (สอจร.) มีทุกหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจราจร ทำให้วิเคราะห์และแก้ไขได้ตรงเป้าหมายชัดเจน

ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จ.ภูเก็ต สามารถลดอัตราการตายเกือบ ร้อยละ 50 โดยเริ่มจากร่วมกันวิเคราะห์และแก้ไข “จุดเสี่ยง” ที่พบบ่อยซ้ำซาก ทำให้ลดการตายของภูเก็ตลงได้ ร้อยละ 30 ขณะที่ตำรวจเน้นการบังคับใช้กฎหมายทั้งการสวมหมวกนิรภัย ดื่มแล้วขับ ตรวจจับความเร็ว โดยใช้เทคโนโลยีมาเสริมการทำงาน เช่น เครื่องยิงตรวจวัดความเร็ว (Speed Gun) กล้องตรวจจับผู้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (Red Light Camera) เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ส่งผลให้จำนวนการเรียกตรวจและดำเนินคดีดื่มแล้วขับเพิ่มจากเดิมกว่า 10 เท่า โดยในปี 2559 จ.ภูเก็ต สามารถลดจำนวนผู้บาดเจ็บลงได้ ร้อยละ 3.5 และลดผู้เสียชีวิตลงได้ ร้อยละ 8.8

“ทุกวัน มีรถออกใหม่จำนวน 2,332 คัน และมีรถจดทะเบียนทั้งหมดกว่า 35 ล้านคัน ในขณะที่เครื่องตรวจวัดความเร็วมีเพียง 1-2 เครื่องต่อจังหวัด ทำให้ปัญหาเรื่อง ความเร็ว ยังคงเป็นสาเหตุหลักของการเกิดเหตุและการเสียชีวิต ผู้ขับขี่ 1 ใน 5 ที่มีทัศนะว่า ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถได้ ถ้ามีสติ และ 1 ใน 3 ระบุว่า เคยดื่มแล้วขับในรอบปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ทุกๆ วันมี 8-10 คนที่ต้องตายบนถนนจากคนดื่มแล้วขับ การขับเคลื่อนงานแบบภาคีเครือข่ายสหสาขาวิชาชีพ ทำให้ลดอัตราความสูญเสียลง และพิสูจน์ว่า หากจุดจัดการระดับพื้นที่ ซึ่งใกล้ชิดปัญหามากที่สุด มีความเข้มแข็ง จัดการเรื่องนี้อย่างจริงจังทุกวัน ประเทศไทยจะลดการตายลงได้เกินครึ่ง” ดร.สุปรีดา กล่าว

นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์

นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก ด้านความปลอดภัยทางถนน และรองประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายถือเป็นมาตรการสำคัญที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนของ จ.ภูเก็ต ลดลง โดยระยะแรกในปี 2553 ได้ใช้มาตรการสวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 100 บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ควบคู่การประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง ทำให้อัตราการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การบาดเจ็บที่ศีรษะลดลงจาก ร้อยละ 37.1 ในปี 2554 เหลือ ร้อยละ 20.6 ในปี 2558 ที่สำคัญ มีจุดเด่นคือ การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีผู้กระทำผิดกฎจราจร สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและลดข้อจำกัดของกำลังคนที่ไม่เพียงพอได้มาก

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ คณะกรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นต้นแบบให้แก่นานาประเทศในเรื่องระบบการดูแลหลังเกิดอุบัติเหตุ (Post crash care) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 เสาหลักขององค์การสหประชาชาติตามแผนทศวรรษความปลอดภัยทางถนน ปี 2554-2563 การทำงานของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) จ.ภูเก็ต ในปี 2560 มีรถพยาบาล (Ambulance) 101 คัน มีจุดปฏิบัติการ 32 จุดทั่วจังหวัด มีเจ้าหน้าที่กู้ชีพทุกระดับรวม 650 คน มีศักยภาพรับมือทั้งในภาวะปกติและภาวะภัยพิบัติ โดยสถิติปี 2560 สามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุหลังรับแจ้งเหตุได้ภายใน 10 นาที สูงถึง ร้อยละ 79.2 ซึ่งการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว มีส่วนในการลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ

นพ.ทวีศักดิ์ นพเกสร

นพ.ทวีศักดิ์ นพเกสร กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า เทศบาลเมืองกะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่ต้นแบบการจัดการความปลอดภัยทางถนน โดยนายกเทศมนตรีให้ความสนใจต่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่รวมถึงนักท่องเที่ยว มีนโยบายสำคัญๆ 1.แก้ไขจุดเสี่ยง โดยปรับสภาพถนนให้ปลอดภัย ติดไฟส่องสว่าง 2.จัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย เช่น ปลดป้ายโฆษณาที่กีดขวางทัศนวิสัยในการมองเห็น 3.มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่เทศกิจ จับ-ปรับ กรณีที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น รถบรรทุกทำเศษหินดินตกหล่นบนถนน 4.สร้างความตระหนัก ด้านความปลอดภัย รณรงค์สวมหมวกนิรภัยในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ส่งผลให้ได้รับรางวัล Prime Minister Road Safety Awards ด้านความปลอดภัยทางถนนและได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างที่ดีเมื่อปี 2558 โดยมีตัวอย่างการจัดการที่สำคัญๆ